We fair ชวนส่อง ‘สวัสดิการเด็กและครอบครัว’ ใน 5 ประเทศ

ช่วงปฐมวัย หรือตั้งแต่อายุแรกเกิด – อายุ 6 ปีเป็นช่วงโอกาสที่ดีของมนุษย์ เพราะร่างกายและสมองจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ก็จะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านการศึกษา อาชีพการงาน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต และมีผลต่อคนในรุ่นต่อๆ ไป โดยสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้เด็กและครอบครัวสามารถเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

วันนี้เครือข่าย We Fair จะพาไปสำรวจสวัสดิการของเด็กและครอบครัว ใน 5 ประเทศ มาดูกันว่าแต่ละประเทศจะมีจะสวัสดิการอย่างไร 

1.ประเทศเดนมาร์ก


ภาพจาก Facebook : Odense Kommune

ประเทศเดนมาร์กมีสวัสดิการเกี่ยวกับครอบครัว ประกอบไปด้วย สวัสดิการเบี้ยเลี้ยงเด็ก (bornecheck) หากเด็กและครอบครัวอาศัยอยู่ในเดนมาร์ก ก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยงโดยอัตโนมัติ ซึ่งจำนวนเบี้ยเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับรายได้ของพ่อแม่ของเด็ก โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเต็มจำนวนถ้าพ่อแม่ของเด็กมีรายได้รวมกันน้อยกว่า 782,600 DKK หรือประมาณ 4,064,698.99 บาท ทั้งนี้จำนวนเบี้ยเลี้ยงขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วย โดยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบจะได้รับ 4,557 DKK ประมาณ 23,668.33 บาทต่อสามเดือน เด็กอายุ 3-6 ขวบ จะได้รับ 3,609  DKK ประมาณ 18,744.57 บาทต่อสามเดือน เด็กอายุ 7-14 ปีจะได้รับ 2,838 DKK ประมาณ 14,740.12 บาทต่อสามเดือน และ เด็ก 15-17 ปี จะได้รับ 946 DKK ประมาณ 4,913.37 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการดูแลเด็ก (Child care) รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดสวัสดิการในการรับดูแลเด็กที่มีอายุ 26 สัปดาห์ขึ้นไปให้แก่พ่อแม่ได้ โดยที่พ่อแม่และเด็กต้องมีสัญชาติเดนมาร์กอย่างถูกกฎหมาย หรือเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรปที่เข้ามาทำงานในเดนมาร์กอย่างถูกต้อง โดยจะได้รับสิทธิในการรับเลี้ยงดูเด็กในสถานรับเลี้ยงดูโดยรัฐบาลท้องถิ่นในวันทำงาน อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถจัดการได้ พ่อแม่ก็สามารถเรียกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเพิ่มเติมได้ สวัสดิการนี้จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนในการนำเด็กไปดูแลยังสถานรับเลี้ยงเด็ก สำหรับเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนรัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ 75% และเด็กวัยเรียนรัฐจะออกให้ 70% ทั้งนี้รัฐมีงบช่วยด้านการเงินพ่อแม่อีกหากจำเป็น สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร (Maternity ben efit) ในกรณีที่ตั้งครรภ์ คลอดลูก หรือรับอุปการะลูกบุญธรรม พ่อแม่ที่ขึ้นทะเบียนในระบบแรงงานสามารถรับสวัสดิการนี้ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทำงานได้รับเงินเดือน หรือเป็นนายตัวเอง หรือแม้แต่ว่างงาน โดยที่ถ้าทำงานได้รับเงินเดือนจะต้องถูกจ้างงานก่อนการใช้สิทธิ์ ถ้าเป็นนายตัวเองจะต้องทำงานมาอย่างน้อยหนึ่งเดือนการใช้สิทธิ์ สวัสดิการที่ได้รับคือสิทธิ์ในการลาไปเลี้ยงดูบุตรของพ่อและแม่ของเด็ก โดยสามารถลารวมกันได้ 52 สัปดาห์ ก่อนลูกอายุ 9 ขวบ ซึ่งรวมถึง 4 สัปดาห์ก่อนคอดลูกสำหรับแม่ในการใช้สิทธิ์ลาคลอด (1-2 สัปดาห์สำหรับกรณีรับอุปการะลูกบุญธรรม) 14 สัปดาห์หลังการคลอดลูกสำหรับแม่ (2 สัปดาห์สำหรับกรณีรับอุปการะลูกบุญธรรม)2 สัปดาห์สำหรับพ่อในการเลี้ยงดูบุตร (14 สับดาห์สำหรับพอหรือแม่กรณีรับอุปการะลูกบุญธรรม) และอีก 32 สับดาห์หลังจากนั้นรวมกัน โดยตลอดว่าเวลาดังกล่าวนั้นที่จะได้รับค่าเลี้ยงดูบุตรไม่เกิน 4,355 DKK ประมาณ 22,619.17 บาทต่อสัปดาห์

2.ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ภาพจาก Facebook : Switzerland.

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงการมีบุตร (Maternity allowance) จัดสรรโดยรัฐบาลท้องถิ่น เป็นสวัสดิการที่จัดสรรเบี้ยเลี้ยงระหว่างการลางานของพ่อ/แม่ โดยการช่วยรายได้ระหว่างที่ขาดงาน กว่า 80% ของรายได้ปกติ แต่ไม่เกิน 196 CHF ประมาณ 6,983.41 บาทต่อวัน เป็นเวลา 14 สัปดาห์นับแต่การให้กำเนิดบุตร ทั้งนี้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจที่จะพิจารณาจัดสรรเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติม หรือยาวนานขึ้นตามความเหมาะสม           นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงแก่ครอบครัว (Family allowances) จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงสำหรับครอบครัวในภาคการเกษตร โดยรัฐบาลกลาง และ เบี้ยเลี้ยงสำหรับครอบครัวในภาคอื่นๆ จัดสรรโดยรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเงื่อนไขแตกต่างกันไป เบี้ยเลี้ยง มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกเบี้ยเลี้ยงสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก(child allowance) จะให้จนกว่าเด็กจะสามารถทำงานมีรายได้ แต่ไม่เกินอายุ 20 ปี และ Vocational training all owance เป็นสวัสดิการที่เป็นเบี้ยเลี้ยงที่ให้ระหว่างที่เด็กกำลังฝึกงาน จนกว่าจะอายุ 25 ปี โดยสำหรับครอบครัวในภาคการเกษตรจะได้รับ Child Allowance 200 CHF ประมาณ 7,125.93 บาทต่อเดือน/คน Vocational Allowance 250 CHF ประมาณ 8,907.41 บาทต่อเดือน/คน ทั้งนี้หากอยู่อาศัยในเขตภูเขาจะได้รับเพิ่ม 20 CHF หรือ 712.59 บาท ทุกอัตรา และเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมอีก 100 CHF หรือ 3,562.96 บาทต่อเดือน/ครัวเรือน ในขณะที่ครอบครัวภาคส่วนอื่น ๆ จะได้รับ Child Allowance 200 CHF ประมาณ 7,125.93 บาทต่อเดือน/คน และ Vocational Allowance 250 CHF ประมาณ 8,907.41 บาท ต่อเดือน/คน

3.ประเทศสวีเดน


ภาพจาก Facebook : Sweden.se

สำหรับประเทศสวีเดน รัฐได้กำหนดวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับหนึ่งครอบครัวไว้ที่ 480 วันต่อลูก 1 คนโดยสิทธิ์ดังกล่าวสามารถใช้ได้จนถึงเมื่อเด็กมีอายุ 8ปี ซึ่งพ่อและแม่ยังสามารถตกลงกันเองได้ว่าใครจะใช้วันลากี่วันเพื่อเลี้ยงดูบุตร อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิ์ได้ก่อนหน้า 60 วันก่อนวันกำหนดคลอด พร้อมทั้งรัฐบาลยังจ่ายเงินอุดหนุนแก่สถานรับดูแลเด็ก และในกรณีที่เด็กเจ็บป่วยพ่อและแม่ก็สามารถที่จะลาเพื่อดูแลเด็กได้จนกว่าจะแข็งแรงดี โดยมีรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนช่วย อีกทั้งเด็กยังได้รับเงินพิเศษเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยพ่อแม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูจนลูกอายุ 16 ปี จำนวน 1,050 SEK ต่อเดือนหรือประมาณ 3,874 บาท หากมีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก และสำหรับเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 21 ปี จะได้รับการนัดหมายให้ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน ทันตกรรม และตรวจวัดสายตา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

4.ประเทศญี่ปุ่น


ภาพจากเว็บไซต์ : Web Japan Ministry of Foreign Affairs of Japan

ในแต่ละเขตที่ญี่ปุ่น จะมีศูนย์ดูแลเด็กเป็นหนึ่งในสวัสดิการของสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 0-18ปี ที่เป็นสถานที่รวมตัวสำหรับเด็ก ให้เด็กๆ ได้พบปะพูดคุยและได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการเป็นเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กที่จะได้รับตั้งแต่เด็กอายุ 0-15 ปี ตั้งแต่ 5,000-15,000 เยน ประมาณ 1,429-4,287 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็กและรายได้ของครอบครัว และเด็กทุพพลภาพอายุต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 33,570- 50,400 เยน ประมาณ 9,596-14,407 บาท

5.ประเทศไทย


ภาพจากเว็บไซต์ : thaihealth

สำหรับประเทศไทยมีสวัสดิการเด็ก เป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เฉพาะเด็กสัญชาติไทยอายุ 0-6 ปี เป็นเงิน 600 บาทต่อคนต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่เป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ต้องอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ รายได้รวมเฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี โดยมีการนำรายได้ครัวเรือนหารกับจำนวนสมาชิกครัวเรือน หากไม่เกิน  100,000 บาท จะได้รับสิทธิ์สวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

เปรียบเทียบสวัสดิการเด็กและครอบครัวทั้ง 5 ประเทศ

หลังจากที่เห็นสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัวของแต่ละประเทศ จะพบว่ารูปแบบของสวัสดิการจะมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยกลุ่มประเทศยุโรปและกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะมีสวัสดิการเด็กแบบถ้วนหน้าและครอบคลุมทั้งเด็กและครอบครัว ถัดมาที่ฝั่งเอเชียรูปแบบสวัสดิการจะมีลักษณะที่มีความเจาะจงเฉพาะรายกรณี กลับมาที่ประเทศไทยยังเป็นสวัสดิการแบบพิสูจน์สิทธิ์ พิสูจน์ความยากจน ทำให้สวัสดิการถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับขั้น และจะเห็นว่าไม่มีการให้ความสำคัญกับรูปแบบสวัสดิการในฐานะสิทธิ์สำหรับทุกคน

ปัจจุบันนโยบายการบริการทางสังคมต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญในเรื่องเด็กปฐมวัยไม่เพียงพอ นโยบายที่ผ่านมาเน้นถึงเด็กในวัยเรียน ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางด้านการเงินและเศรษฐกิจต่าง ฯ ที่เกิดขึ้น ทำให้ยิ่งมีความจำเป็นที่ควรจัดให้มีระบบ การคุ้มครองทางสังคมกับเด็กปฐมวัย โดย We fair ได้มีข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการด้านเด็ก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ช่วยเพิ่มบทบาทของครอบครัวในการดูแลบุตร และส่งเสริมการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานให้ครอบครัวมีสมรรถนะที่จะเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย ทาให้เด็กเจริญเติบโตเต็มศักยภาพไม่เสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลยในช่วงเริ่มต้นของชีวิต ดังนี้

1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนแบบถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน

2) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนแบบถ้วนหน้า อายุ 19-22 ปี เพื่อเป็นเงินอุดหนุนสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย/ ปวส. โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน

3) ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ


Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *