พัฒนาการประวัติศาสตร์สวัสดิการสังคมไทย พ.ศ. 2475-2564

ผู้เขียน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ภาพประกอบบทความ ธณัฏฐพล ฉายรัศมี

พัฒนาการระบบรัฐสวัสดิการไทย พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2564 เป็นการเรียบเรียงช่วงเวลาของ สภาพเศรษฐกิจสังคมการเมืองกับนโยบายและกฎหมายสวัสดิการสังคม นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การนิยามระบบสวัสดิการ หมายถึง ชุดนโยบายที่ช่วยประกันความเสี่ยงในชีวิตให้กับประชาชน และช่วยให้บริการทางสังคมขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยเฉพาะการบริการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต  ทั้งนี้ ชุดนโยบายและกฎหมายสวัสดิการสังคม จะพิจารณาจากนโยบายด้านการศึกษา การประกันสังคมและแรงงาน สาธารณสุข เป็นสำคัญ โดยพัฒนาการระบบรัฐสวัสดิการไทย แบ่งออกเป็น 4 ช่วงสำคัญ

ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2475-2499)

การเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย การปะทะกันระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดขึ้นโดยทันที เมื่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” ของ ปรีดี พนมยงค์ ปรากฎขึ้นพร้อมกับ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งถือเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมฉบับแรกของไทย ได้เป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 กลุ่มกษัตริย์นิยม กับ ปรีดี พนมยงค์ จนกล่าวได้ว่าปฐมบทความขัดแย้งทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกวางบนเงื่อนไขความขัดแย้งในประเด็นสวัสดิการ และเป็นมูลเหตุสำคัญนำไปสู่การเนรเทศปรีดี พนมยงค์ การรัฐประหารปี 2476 กบฏบวรเดชในปีเดียวกัน และการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในสองปีถัดมา

แม้ว่าฝ่ายคณะราษฎร์จะประสบชัยชนะทางการเมือง แต่พัฒนาการนโยบายสวัสดิการสังคมยังเกิดขึ้นอย่างจำกัด แม้ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน จะมีการกําหนดให้การศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาในยุคแปลก พิบูลสงคราม นโยบายรัฐและความเป็นชาติถูกผูกโยงเข้ากับลัทธิชาตินิยม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ โดยสิ้นสุดลงจากการถูกใส่ร้ายกรณีสวรรคต ร.8 จนต้องลี้ภัยจากถูกรัฐประหารในปี 2490 จากนั้นปรีดีพยายามกลับเข้ามายึดอำนาจคืนแต่ไม่สำเร็จ แปลก พิบูลสงคราม ได้เข้าสู่อำนาจครั้งที่สองแต่ไม่เข้มแข็งดังเดิม จึงพยายามสร้างคะแนนนิยมในการสร้างนโยบายสวัสดิการ ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการกรรมกรและสังคมนิยมมีบทบาทมากขึ้น จนนำไปสู่กฎหมายประกันสังคม กฎหมายแรงงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมทั้งกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ในช่วงท้ายทศวรรษ 2490 แต่จะถูกยกเลิกทั้งหมดในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ยุคสมัยระบอบเผด็จการสู่กึ่งประชาธิปไตย (พ.ศ.2500 – 2529)

การก้าวสู่การรัฐประหาร ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ กวาดล้างจับกุมคุมขัง ใช้อำนาจมาตรา 17 ประหารชีวิตผู้นำขบวนการสังคมนิยม ขบวนการกรรมกร ในข้อหาคอมมิวนิสต์ ภายใต้บริบทสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชี้นำทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบทรูแมน   การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ผสมผสานกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม เป็นข้ออ้างในการคงอยู่ในอำนาจ จนเป็นต้นแบบการปกครองในยุคถนอม ประภาส และสิ้นสุดลงในยุคการพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ของเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้นโยบายดังกล่าวทำให้สวัสดิการสังคมในยุคนี้ไม่ถูกจัดลำดับเป็นความสำคัญของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเหตการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 แม้ระบอบเผด็จการได้สิ้นสุดลงสั้นๆ จากบทบาทของขบวนการนักศึกษา แต่ด้วยความเกรงกลัวต่อกระแสการปฏิรูปสังคมของนักศึกษาจะนำพาไปสู่คอมมิวนิสต์ จึงเป็นสาเหตุของการลอบสังหารผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมกร และปิดท้ายด้วยการสังหารหมู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่พัฒนาการนโยบายสวัสดิการสังคมก็ได้เริ่มลงหลักปักฐานในยุคนี้อย่างสำคัญ ได้แก สวัสดิการแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิการรวมตัวแรงงาน กองทุนเงินทดแทน การปฏิรูปที่ดิน และค่าเช่านา

ยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2530-2549)

การต่อสู้ช่วงชิงในการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย เริ่มมาตั้งแต่ปลายสมัยของเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ จนเมื่อชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ในปี 2531 มีพัฒนาการสำคัญของนโยบายสวัสดิการสังคม ได้แก่ การประกาศใช้ พรบ.ประกันสังคม ในปี 2533 จากนั้นระบอบประชาธิปไตยได้มีบททดสอบจากการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 แต่พลังประชาธิปไตยและปรากฎการณ์ม๊อบมือถือของคนชั้นกลางที่สามารถขับไล่ สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี จากการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร รสช. ได้สำเร็จ ในปี 2535

ปี 2535-2549 เป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการรัฐประหารยาวนาน การสั่งสมกระแสการปฏิรูปการเมืองสังคม การกระจายอำนาจ นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ก่อเกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพ การเติบโตของภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางรัฐราชการได้สถาปนาระบบการเมืองและสวัสดิการในรูปแบบศักดินาราชูปถัมภ์ สวัสดิการเป็นลักษณะสังคมสงเคราะห์เพื่อผู้ยากไร้ รวมทั้งโครงการพระราชดำริเป็นตัวแบบของสวัสดิการสืบต่อจากยุคสฤษดิ์ ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 กลุ่มทุนใหม่ได้สถาปนาอำนาจผูกขาดการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ทักษิณ ชินวัตร ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการสังคมที่ยกระดับสู่ระบบถ้วนหน้า ซึ่งถูกโจมตีโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์และชนชั้นกลางว่าเป็นนโยบายประชานิยม ขาดความโปร่งใส ทำให้คนจนพึ่งพิงรัฐ ความขัดแย้งนี้ถูกยุติลงด้วยการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

ยุคสมัยการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหาร (พ.ศ.2550 – 2564)

ช่วงดุลการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร ชนชั้นนำและกองทัพตัดสินใจก่อการรัฐประหาร 2 ครั้ง ในรอบ 8 ปี โดยใช้ข้ออ้างจากวิกฤตการณ์การเมืองมวลชน การรัฐประหารปี 2549 ก่อ

กระแสตื่นตัวของมวลชนที่ไม่ยินยอมให้มีการแทรกแซงอำนาจทางการเมือง จนเกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่ ในปี 2553 เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2554 การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท การเพิ่มอัตราเบี้ยผู้สูงอายุ 600-1000 บาท รวมทั้งมาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจต่อคนจน เกษตรกร และชุมชน ทั้งนี้ เมื่อมองภาพรวมนโยบายสวัสดิการของพรรคไทยรักไทย นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบสิทธิสวัสดิการ ขณะที่นโยบายด้านอื่นมีการนำกลไกตลาดเข้ามาจัดสวัสดิการ เช่น บ้านเอื้ออาทร กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งในระยะยาวแล้วจะไม่ตอบสนองต่อประชาชนในท้ายที่สุด

 การรัฐประหารปี 2557 เป็นชัยชนะฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการหวนกลับสู่ระบอบเผด็จการ โดยประยุทธมีพันธมิตรประชารัฐที่สำคัญ ได้แก่ ทุนระดับชาติ เทคโนแครต และคนชั้นกลางที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ภาพรวมของสวัสดิการการหวนคืนสู่ระบบสวัสดิการในรูปแบบศักดินาราชูปถัมภ์ การสงเคราะห์เพื่อผู้ยากไร้ สร้างระบบอุปถัมภ์เพื่อการดำรงอยู่ของระบบสวัสดิการอภิสิทธิ์ชนชั้นนำ ประกันสังคมมีการกำหนดเพดานต่ำในการได้รับการบริการ และมีการโจมตีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าว่าเป็นภาระงบประมาณ

ช่วงเวลาพัฒนาการสวัสดิการสังคมไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 – 2564 โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงช่วงเวลาการเกิดรัฐประหาร (พื้นหลังสีเขียวเข้ม) ช่วงที่มีการเลือกตั้ง (พื้นหลังสีเทา) และการเลือกตั้งภายใต้ทหาร (พื้นหลังสีเขียวอ่อน) และจุดแสดงการเกิดขึ้นของสวัสดิการประชาชน (จุดสีฟ้า) และสวัสดิการข้าราชการ (จุดสีเหลือง)

พัฒนาการระบบสวัสดิการไทยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และแปรผกผันเมื่อบริบทการเมืองเข้าสู่การรัฐประหาร โดยในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พัฒนาการนโยบายสวัสดิการเกิดขึ้นอย่างจำกัด จากจุดเริ่มความขัดแย้งเค้าโครงการเศรษฐกิจ แม้จะมีนโยบายสวัสดิการด้านการศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานกับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 2490 มีแรงผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคม กฎหมายสหภาพแรงงาน การจำกัดการถือครองที่ดิน แต่ถูกยกเลิกในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ซึ่งจะก้าวเข้าสู่พัฒนาการระบบสวัสดิการที่แตกต่างกันในบริบทพัฒนาการประชาธิปไตย 3 ช่วงเวลา

ช่วงแรก ยุคสมัยระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ (พ.ศ. 2500-2529) ในช่วงเวลานี้ รัฐและชนชั้นนำมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสูงสุด ระบบสวัสดิการสังคมขยายตัวตามเป้าหมายการพัฒนา การก่อตังมหาวิทยาลัยในภูมิภาค การเลือกจัดสรรประโยชน์เชิงสงเคราะห์ให้กับเฉพาะกลุ่มคน ในรูปแบบศักดินาราชูปถัมภ์ และเลือกที่จะละเลยหรือขูดรีดประชาชนโดยนำเอาส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาสนับสนุนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และการขยายสวัสดิการของระบบราชการหรือกองทัพที่เป็นกลไกในการดำรงอยู่ของรัฐและชนชั้นนำ ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

ช่วงที่สอง ยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2530-2549) ในช่วงนี้มีช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการรัฐประหารยาวนาน นักการเมืองและภาคธุรกิจมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมมากขึ้น การเติบโตของภาคประชาสังคม การเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ถือเป็นช่วงระบบสวัสดิการไทยมีพัฒนาการมาก และการขยายตัวอย่างชัดเจน เมื่อทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทยได้เข้าสู่อำนาจผ่านการสร้างความนิยมด้วยนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่สวัสดิการสังคมและการช่วยเหลือคนจน อย่างไรก็ตาม นโยบายที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้ถูกโจมตีโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลางว่าเป็นนโยบายประชานิยม ทำให้คนจนพึ่งพิงรัฐ

ช่วงที่สาม ยุคสมัยการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหาร (2550 – 2564) ในช่วงเวลานี้เป็นการต่อสู้และการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมือง และปฐมบทการรัฐประหาร ปี 2549 จนถึงการรัฐประหาร ปี 2557 นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ย้อนอดีตสังคมไทยหวนคืนสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคการเมืองแบบชนชั้นนำและรัฐราชการรวมศูนย์ จากฐานคิดความไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชนและระบบการเลือกตั้ง จึงออกแบบกลไกนอกระบบการเลือกตั้งผ่านสมาชิกวุฒิสภา สำทับด้วยกลไกรัฐราชการและองค์กรอิสระ เพื่อควบคุมประชาสังคมและพรรคการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับรูปแบบนโยบายสวัสดิการปัจจุบัน ได้หวนคืนสู่อุดมการณ์ระบบศักดินาราชูปถัมภ์ นโยบายสวัสดิการถูกสร้างเป็นระบบอุปถัมภ์ผ่านการสงเคราะห์ สร้างความสัมพันธ์แบบบุญคุณระหว่างผู้ให้กับผู้รับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการคงอยู่ในอำนาจของรัฐบาล คสช. สู่การเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ภาพสะท้อนจากการจัดสวัสดิการในการช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์โควิด โดยใช้ระบบสงเคราะห์ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ความยากจนและการตีตราความจนก็คือ การเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง กีดกันคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จนทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่าสวัสดิการถ้วนหน้า สามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก

กล่าวโดยรวม พัฒนาการระบบสวัสดิการไม่สามารถขยายตัวและจะชะลอตัวลงในสมัยรัฐบาลเผด็จการ การถดถอยของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ระบบการเลือกตั้งลดทอนอำนาจประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองไม่สามารถแสดงบทบาทในการดำเนินนโยบาย และถูกควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคมถูกควบคุมกดปราบ ด้วยหวาดกลัวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนจะท้าทายสถานะอำนาจของชนชั้นนำ

เมื่อสังคมไทยอยู่ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ระบบสวัสดิการเกิดพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากบทบาทของพรรคการเมืองหรือการผลักดันของขบวนการแรงงาน ขบวนการนักศึกษา และขบวนการทางสังคมต่างๆ โดยมีรูปธรรมนโยบาย อาทิ นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยปี 2476 กฎหมายประกันสังคม ปี 2497 กฎหมายแรงงาน ปี 2499 การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2518 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 โครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาล (สปน.) ในปี 2518 กฎหมายประกันสังคม ปี 2533 การลาคลอด 90 วัน ในปี 2536 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในปี 2538 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในปี 2541 ระบบประกันสังคมมีการขยายสิทธิ์การสงเคราะห์บุตรและการประกันชราภาพ ในปี 2541 และขยายความคุ้มครองกรณีว่างงาน ในปี 2547 กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มาตรการรถเมล์รถไฟฟรี 2551 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ปี 2552 เบี้ยความพิการถ้วนหน้า ปี 2552 การเรียนฟรี 15 ปี .ในปี 2552 การปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1000 บาท ในปี 2554 กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯ ในปี 2554

ในทางกลับกัน ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ ประชาธิปไตยครึ่งใบ การรัฐประหาร ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าถดถอย สวัสดิการอภิสิทธิชนกับสวัสดิการแนวสงเคราะห์เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ การควบคุมกดปราบขบวนการแรงงานและประชาสังคมที่เรียกร้องสวัสดิการสังคม ได้แก่ การยกเลิกประกันสังคม ในปี 2502 การยกเลิกกฎหมายแรงงาน ในปี 2502 สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระเบียบการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัว ในปี 2506 พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ. 2523 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2560 ข้าราชการบำนาญเพิ่มบำเหน็จดำรงชีพได้อีก 1 แสนบาท และข้าราชการที่ได้บำเหน็จต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท ในปี 2561   สวัสดิการข้าราชการบำนาญ 8.7 แสนคน ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท ในปี 2564 รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีไม่รับรองกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และพรรคการเมือง 5 ฉบับ ในปี 2564

นอกจากพัฒนาการระบบการเมืองเป็นปัจจัยต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการ กล่าวกันว่า การขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมไทยขาดบทบาทของขบวนการแรงงานหรือพรรคฝ่ายซ้าย รวมไปถึงแนวคิดสิทธิทางสังคม ซึ่งต่างไปจากบริบทประเทศตะวันตก ครั้นเมื่อพิจารณาพรรคการเมืองไทยมีข้อเท็จจริงไม่น้อยที่พรรคการเมืองมีสภาพอ่อนแอ ยึดติดตัวบุคคล มีแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ ส่วนพรรคแนวสังคมนิยมได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ยุค 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่ขบวนการแรงงานสมัยใหม่ มีพื้นที่การต่อสู้จำกัดในสถานประกอบการ ขาดยุทธศาสตร์ที่มีมิติทางสังคม ขาดการส่งเสริมการรวมตัว อย่างไรก็ตาม บทบาทของพรรคการเมืองและขบวนการแรงงานจะขึ้นอยู่กับบริบทของรัฐด้วย หากเป็นรัฐบาลเผด็จการ ขบวนการแรงงานและพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายถูกกวาดล้างจับกุมคุมขัง ประหารชีวิต อุ้มหาย แบ่งแยกทำลายความเข้มแข็ง จนไม่สามารถเป็นพลังทางอุดมการณ์ที่ต่อเนื่อง พัฒนานโยบายสวัสดิการสังคมจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่แนวคิดในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมเป็นสิทธิของประชาชนยังไม่ได้รับการยอมรับ และมีมายาคติที่ถูกสร้างจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ต่อรัฐสวัสดิการ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามิติทางชนชั้น มีการกล่าวถึงบทบาทชนชั้นกลางที่ส่งผลต่อระบบสวัสดิการ ในทศวรรษ 2540 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย นโยบายสวัสดิการได้เป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมทางการเมือง อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายพักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน บ้านเอื้ออาทร นโยบายเหล่านี้ได้ถูกโจมตีจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองว่า เป็นนโยบายประชานิยม ครั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มชนชั้นกลางได้ผันตัวไปเป็นพลังต่อต้านประชาธิปไตย และต่อต้านนโยบายสวัสดิการเหล่านั้นด้วย จนเกิดการรัฐประหารในปี 2549 กระทั่งเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งพร้อมนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ก็ถูกโจมตีเช่นเดิม และชนชั้นกลางได้เข้าร่วมเป็นพลังสนับสนุนขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยอีกครั้ง สู่การรัฐประหารในปี 2557 ในที่สุด

นอกจากปัจจัยบทบาทคนชั้นกลางต่อระบบสวัสดิการ ซึ่งผูกโยงกับการปะทะกันทางอุดมการณ์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ที่มีบทบาทสำคัญที่ไม่อาจไม่กล่าวถึงได้ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ในฐานะศูนย์กลางรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) กลุ่มข้าราชการมีบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบาย การนำเสนองบประมาณรายจ่าย การใช้อำนาจในบทบัญญัติกฎหมายระดับรอง โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และบทบาทที่ควรถูกตั้งคำถามก็คือ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบาย ข้าราชการในฐานะลูกจ้างของภาครัฐได้กำหนดนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง จนได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เกิดระบบสวัสดิการแบบอภิสิทธิชนที่เหลื่อมล้ำ

ข้อจำกัดที่เกิดจากลักษณะของระบบการเมืองดังที่กล่าวมา ได้สร้างความท้าทายในการพัฒนาระบบสวัสดิการไทย การปรับเปลี่ยนคงจะต้องดำเนินควบคู่กับการสร้างอุดมการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย และจะต้องรื้อถอนนโยบายสวัสดิการแบบอุปถัมภ์ประโยชน์ ลดบทบาทของระบบศักดินาราชูปถัมภ์ แม้การใช้นโยบายสวัสดิการที่มุ่งไปที่คนจน อาจจะถือเป็นการจัดสวัสดิการเพื่อด้านประสิทธิภาพในการกระจายผลประโยชน์ แต่ทางเลือกที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดนโยบายที่ให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้า (universalism) ทำให้การได้รับสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูประบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรม การปฏิรูประบบงบประมาณ การปฏิรูประบบราชการ การลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน


Haggard, S. and Kaufman, R. Development, Democracy, and Welfare States: Latin America, East Asia, and Eastern Europe. Oxford: Princeton University Press, 2009.

เกษียร เตชะพีระ “ม.17 : เครื่องประหารหัวสุนัขของจอมพลสฤษดิ์” ใน มติชนสุดสัปดาห์, 2558

จินตนา พรพิไลพรรณ. (2551). เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ธร ปีติดล. (2017). พัฒนาการของระบบสวัสดิการในประเทศไทย จาก พ. ศ. 2475 ถึง 2543: ข้อสังเกตจากการศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีกับประสบการณ์ของ ประเทศไทย. วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, 4(2), 194-268.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์การปฏิวัติสยาม. พ.ศ. 2475. กรุงเทพ:ฟ้าเดียวกัน, 2553.

ปรีดี พนมยงค์ เค้าโครงเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม.. กรุงเทพ:สุขภาพใจ, 2552.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2546.

พรรณี บัวเล็ก การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย:. บทสำรวจสถานะความรู้. กรุงเทพ: ส ำนักพิมพ์สยาม, 2555.

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์และคณะ. (2553) ทางเลือกของสวัสดิการสําหรับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

วิโรจน์ ณ ระนอง และ อัญชนา ณ ระนอง. (2544) การวิจัยประเมินผลการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.). มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานโครงการปฏิรูประบบสาธารณสุข.

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผศ.ดร.รายงานวิจัย ชุดข้อเสนอเชิงนโยบาย การลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ประชากรกลุ่มเฉพาะ โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.) เดือนมิถุนายน 2562

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วรนิษฐา หนูคง รศ.ดร. รายงานการศึกษา “ชุดข้อเสนอนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โครงการพัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2564

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.อภิชาต สถิตนิรามัย รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ:. จากกำเนิดทุนนิยม นายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

สมเกียรติ์ ตั้งกิจวานิชย์ และคุปต์ พันธ์หินกอง งาน 29-30 พฤศจิกายน 2553 โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบสวัสดิการ

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551) สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. สํานักงานส่งเสริมสวัสดิ ภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ, กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์. อภิชาต สถิตนิรามัย รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยม นายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556), 49

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *