ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : มายาคติและการโจมตีแนวคิดรัฐสวัสดิการ ตอนที่ 2

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : มายาคติและการโจมตีแนวคิดรัฐสวัสดิการ

7 ความเข้าใจผิดที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ใช้โจมตีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และสนับสนุนแนวคิดสังคมสงเคราะห์หรือระบบเครดิตคนจน (ตอนที่ 2)

กล่าวถึงความเข้าใจผิด 7 ประการ ที่นักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมใหม่ใช้โจมตีแนวคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า โดยในบทความตอนที่ 1 กล่าวไว้ 3 ข้อ ได้แก่  1. ไม่มีทรัพยากรพอสำหรับทุกคน 2.ถ้าทรัพยากรมีจำกัดต้องให้คนจนก่อนถึงจะเพียงพอ 3.รัฐช้าต้องช่วยกันเอง กลไกตลาดทำงานได้ดีกว่า รัฐสวัสดิการทำลายเสรีภาพ

ในบทความตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึง ข้อ 4-7 ได้แก่ 4.สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป 5.การจัดสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจนอนรอสวัสดิการ 6.การใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ถ้าให้แบบไม่มีเงื่อนไข และ 7.ประเทศไทยมีข้อมูลไม่พร้อมสำหรับการทำรัฐสวัสดิการ ซึ่งล้วนเป็นคำพูดที่บั่นทอนการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และสะท้อนความล้าหลังของกลุ่มปฏิกริยาต่อความก้าวหน้าของสังคมทั้งสิ้น

4. สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป

นักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมใหม่มักโจมตีรัฐสวัสดิการ ด้วยการพิจารณาตามหลักการแบ่งเค้กเชิงปริมาณแบบง่ายๆ ว่า ถ้าคนรวยคนจน ชนชั้นกลาง ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สิน รายได้ และโอกาสไม่เท่ากัน เมื่อได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าเท่ากัน สมมติว่า 100 หน่วย ความเหลื่อมล้ำก็ไม่จางหายไป เพราะ พวกเขาก็มีทรัพย์สิน รายได้และโอกาสห่างเท่ากันเหมือนเดิม

การกล่าวเช่นนี้เป็นการบิดเบือนทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพด้วยการใช้วิธีคิดแบบคณิตศาสตร์กำหนดในการบอกว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ผมขอเปรียบเทียบตามตารางด้านล่าง

 

          จากตารางจะเห็นได้ว่า กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่มองว่า การให้สวัสดิการคนเท่ากันไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ พวกเขาจึงต้องการจัดสวัสดิการให้เฉพาะ “คนจน” อาจจะ 5 หน่วย หรือ 10 หน่วย เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำนี้น้อยลง แต่มันคือข้ออ้างในการปฏิเสธสวัสดิการในฐานะสิทธิ และไม่ต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนรวยมาสร้างรัฐสวัสดิการ เราลองพิจารณาตารางใหม่อีกครั้ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าในปริมาณสูง สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่า การจัดสวัสดิการแบบเก็บตกที่จะได้เนื้อสวัสดิการเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการถ้วนหน้ายังทำให้ผู้คนสามารถวางแผนการใช้เงิน การหาอาชีพ กำหนดแผนชีวิตตัวเองในระยะยาว การที่ผู้คนสามารถวางแผนระยะยาวได้มากขึ้นย่อมทำให้ปฏิเสธงานที่ เสี่ยงอันตราย ไร้ความหมาย และอำนาจต่อรองต่ำได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้โดยตรงเมื่อเทียบกับระบบพิสูจน์ความจน

5.ผู้คนจะขี้เกียจนอนรอสวัสดิการ

การจัดสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจนอนรอสวัสดิการ เป็นข้อกล่าวหาที่มีมาอย่างยาวนาน และไม่มีข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนว่า การมีสวัสดิการถ้วนหน้าที่สมบูรณ์มนุษย์จะขี้เกียจนอนอยู่บ้าน เพราะประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าก็ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบการจ้างงาน ที่มีความสร้างสรรค์มากที่สุดในโลก ตรงกันข้ามระบบที่ให้เฉพาะคนจนต่างหากที่ทำสวัสดิการมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการยกระดับชีวิต นอกจากนี้ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกการให้สวัสดิการเฉพาะกลุ่มคนยากจนมีโอกาสที่ทำให้เกิดภาพประทับจำว่า เป็นเฉพาะ “คนดำที่มารับสวัสดิการ” “เฉพาะคนละตินที่มารับคูปองอาหาร” ในประเทศสหรัฐอเมริกา การวางระบบถ้วนหน้าจะทำให้ภาพประทับจำต่อการรับสวัสดิการเหล่านี้น้อยลง และทำให้การกีดกันในตลาดแรงงานน้อยลงเช่นกัน

6.คนจะใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ถ้าให้แบบไม่มีเงื่อนไข

กลุ่มเทคโนแครตเสรีนิยมใหม่มักจะอ้างว่า คนจะใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ กลุ่มเสรีนิยมใหม่มักพิจารณาว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ให้ประชาชนต้องก่อให้เกิดความคุ้มค่า เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน หรือให้คนสามารถออกไปรับใช้ระบบทุนนิยมให้นายทุนรวยมากขึ้น ดังนั้นการให้สวัสดิการในอุดมคติของพวกเขาคือ ต้องสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ เมื่อใดที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็สามารถตัดสวัสดิการได้ ระบบ “แต้มทางสังคม” ถูกเอาใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแฝงอุดมคติการควบคุมในลักษณะนี้ เช่น หากคุณกินเหล้ามาก คุณกำลังใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม  คุณจะถูกห้ามเดินทางท่องเที่ยว คุณซื้อหนังสือแล้วกลายเป็นคนดี ลักษณะเช่นนี้แฝงด้วยวิธีการแบบอำนาจนิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ในไทย ซึ่งวางอยู่บนเงื่อนไขว่าคนที่รับสวัสดิการไม่ควรมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ควรมีบัตรเครดิต ไม่ควรขึ้นเครื่องบิน ไม่ควรกินร้านอาหารราคาแพง ทำได้แค่ซื้อของและใช้จ่ายตามที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น

7.ประเทศไทยข้อมูลไม่พร้อมสำหรับการทำรัฐสวัสดิการ

Alberto Alessina นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้ระบุว่าการที่สหรัฐอเมริกาไม่มีรัฐสวัสดิการแบบในยุโรป มีคำอธิบายที่หลงผิดอยู่มาก เช่น สหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีได้น้อย หรือระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเปิดกว้างต่อการเลื่อนชนชั้นมากกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงในสหรัฐอเมริกาแทบจะเป็นคนกลุ่มเดิมเมื่อนับย้อนหลังไป หรือแม้แต่ว่าสหรัฐอเมริกามีคนนอกระบบเศรษฐกิจมากกว่ายุโรป ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน Alessina สรุปว่าการที่สหรัฐอเมริกาไม่มีสวัสดิการที่ก้าวหน้าแบบยุโรปก็มาจากเหตุง่ายๆ คือ (ชนชั้นนำ) สหรัฐอเมริกาไม่เห็นว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นจึงสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมต่างๆขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนไม่สนับสนุนแนวคิดนี้

เช่นเดียวกับ Henrik Jacobsen Kleven ได้ตีพิมพ์บทความ “เหตุใดประเทศแถบสแกนดิเนีเวียจึงเก็บภาษีสูง” ในปี 2014 ซึ่งเราอาจคิดว่าประเทศเหล่านี้เก็บภาษีสูงจึงสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ แต่แท้จริง แล้วมันมาจากการที่ประเทศมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้ามาก่อน มนุษย์ได้สัมผัสได้ใช้สวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน ศูนย์เลี้ยงเด็ก บ้านพักผู้สูงอายุ โรงพยาบาล อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่แบ่งระหว่างคนรวย คนจน ชนชั้นกลง จึงทำให้ประชาชนรู้สึกยินดีที่จะจ่ายภาษี

เช่นเดียวกับประเทศอินเดียเมื่อสองปีที่แล้ว ได้สร้างระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ใหญ่ทั้งเม็ดเงินและครอบคลุมจำนวนคนมากที่สุดในโลก เพราะ “ความจำเป็น” ไม่ใช่เพราะการมีข้อมูลที่พร้อม

ดังนั้น สวัสดิการจึงเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ก่อน จึงเกิดการบูรณาการข้อมูล หาใช่เฝ้ารอคอยให้ข้อมูลพร้อมแล้วจึงสร้างรัฐสวัสดิการราวกับรอคอยความฝันที่ว่างเปล่า แบบที่เทคโนแครตทั้งหลายมักกล่าวอ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับระบบที่เหลื่อมล้ำต่อไป

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *