Mayday 2020 ฉลองวันกรรมกรสากลแบบไม่ได้เดินขบวน

Mayday 2020 ฉลองวันกรรมกรสากล แบบไม่ได้เดินขบวน

วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี วันกรรมกรสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1886 จุดเริ่มต้นแห่งการเรียกร้องสิทธิแรงงานและสวัสดิการของคนใช้แรงงานทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงทำงาน วันละ 8 ชั่วโมง จนเป็นที่มาของระบบ สามแปด คือทำงาน 8 ชม. ศึกษาหาความรู้ 8 ชม. และพักผ่อน 8 ชม.

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We fair) มีความกังวลถึงสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงาน ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ผนวกรวมกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า จึงเป็นสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ซึ่งแรงงานนอกระบบ แรงงานฟรีแลนซ์อิสระ แรงงานภาคเกษตร รวมทั้งแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ล้วนเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เผชิญความเสียงจากการหยุดงาน ถูกเลิกจ้าง สูญเสียช่องทางหารายได้จากมาตรการภาครัฐ

เครือข่าย We Fair มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานและวิกฤติการณ์ COVID-19 ดังต่อไปนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงานและประชาชน ต้องใช้แนวทาง “สวัสดิการถ้วนหน้า” เพื่อให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนหน้าทันท่วงที ยกเลิกแนวทาง “การสงเคราะห์” “การพิสูจน์ความยากจน” ซึ่งได้ทอดทิ้งและกีดกันผู้คนจำนวนมาก จากระบบปัญญาประดิษฐ์ ทั้งยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2) ชดเชยรายได้ผู้ใช้แรงงาน อย่างน้อย 75% กรณีว่างงานหรือการหยุดงานหรือการปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการภาครัฐ ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีประกันสังคม ให้รายงานตัวและแจ้งขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม โดยให้เกิดสิทธิในทันทีเมื่อเข้าสู่ระบบ

3) ลดค่าบริการสาธารณูปโภค 50% ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเช่าบ้าน ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40

4) งดชำระหนี้ ยุติการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อและที่อยู่อาศัย ตามระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบ ปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หนี้สินเกษตรกร เงินกู้ยืมการศึกษา

5) ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ค้าขายหรือเปิดตลาด ผู้ใช้แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้า สามารถประกอบอาชีพและมีความปลอดภัย โดยมีการจัดการจัดพื้นที่เพื่อดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง

6) พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ให้เป็นระบบถ้วนหน้า เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ได้แก่ (1) เงินสนับสนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี จำนวน 4.268 ล้านคน (2) เบี้ยคนพิการ 2.02 ล้านคน (3) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน (4) สร้างระบบประกันสังคมถ้วนหน้า โดยจูงใจแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยรัฐจ่ายสมทบให้เป็นเวลา 3 เดือน

7) ทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 2563 อาทิ การจัดซื้ออาวุธหรือการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 โดยคำนึงถึงการการสร้างรัฐสวัสดิการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต

เครือข่าย We Fair เชื่อว่า ผู้ใช้แรงงานและประชาชนจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด -19 นี้ ด้วยการดำเนินนโยบายตามแนวทาง “รัฐสวัสดิการ” การสร้างระบบรายได้ขั้นพื้นฐาน Universal Basic Income การสร้างระบบการคลังและบริการสาธารณะที่ยึดโยงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน การปฏิรูประบบภาษีอัตราก้าวหน้า จะทำให้ประชาชนทุกชนชั้นที่มีความสามารถและความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยไม่ถูกกีดกันด้วยฐานะ เพศ วัย การศึกษา ความพิการ สถานะบุคคล

วัน Mayday ปีนี้ เครือข่าย We fair ขอให้กำลังใจพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

ร่วมรำลึกวันกรรมกรสากล

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *