ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 (ตอนที่ 1)

ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ในวาระครบรอบ 6 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้ข้ออ้างเรื่องเหตุจลาจลในการรัฐประหารซึ่งต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จึงได้มีพระราชโองการประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติความว่า “เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศชาติและความสมานฉันท์ของประชาชน จึงมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

บทความชิ้นนี้จึงตั้งใจนำทุกท่านย้อนเวลาสำรวจความถดถอยและความก้าวหน้าของรัฐสวัสดิการหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 โดยเล่าผ่านความรุนแรงและเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆตามแนวคิด “ความเหลื่อมล้ำแนวราบ ต้นกำเนิดของความรุนแรง” ของฟรานเซส สจ๊วต เพื่อชวนให้ผู้สนใจแนวคิดรัฐสวัสดิการได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเสรีภาพทางการเมืองกับการยกระดับสวัสดิการสังคม

ตอนที่ 1 : “ความขัดแย้งและความรุนแรง” ในนามของ“ความสงบเรียบร้อยและความสมานฉันท์”

“ความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ” 

          ชื่อภาษาอังกฤษของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นคือ National Council for Peace and Order (NCPO) ดังนั้นความสงบเรียบร้อยของคสช.จึงเป็นความพยายามผูกโยงให้ “ความสงบ/สันติภาพ”(Peace) ไปกันได้กับ “ความเรียบร้อย”(Orderly) แต่ในทางปฏิบัตินั้นความเรียบร้อยตามคำสั่ง(Orderly)โดยจำกัดการแสดงออกถึงสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นเป็นต้นตอสำคัญของการปะทุให้เกิดความรุนแรงและทำลายความสงบ(Peace) ในที่สุด

9 พฤศจิกายน 2557 ( 6 เดือนหลังรัฐประหาร )  รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกทหารควบคุมตัวหลังเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกแผนแม่บทของกอ.รมน.ส่งผลกระทบต่อราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตัดฟันพืชผลทางการเกษตรและบังคับให้อพยพ การควบคุมตัวประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องปัญหาที่ดินทำกินเช่นนี้คือตัวอย่างหนึ่งของ “ความเรียบร้อย”(Orderly) ที่ขัดต่อ “ความสงบ/สันติภาพ” (Peace) หรือคุณภาพชีวิตประชาชน

 “ความสมานฉันท์ของประชาชน” 

แม้ในทางทฤษฎีแล้วการใช้กองกำลังเข้าควบคุมพื้นที่เพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peace keeping operation) นั้นย่อมเป็นบทบาทของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรนานาชาติที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดสามารถทำหน้าที่เป็นผู้รักษาสันติภาพ (Peace Keeper) โดยการใช้กองกำลังที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าควบคุมพื้นที่เพื่อรับประกันว่าจะสามารถปกป้องและคุ้มครองมิให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ในขั้นตอนของการสร้างสันติภาพ (Peace Building) หนึ่งในกระบวนการสำคัญคือกระบวนการปรองดอง/สมานฉันท์(Reconciliation) โดยหลักการแล้วต้องมีการสืบค้นข้อเท็จจริง คืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อ นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มิใช่แกนนำ และท้ายที่สุดการพัฒนากฎหมายและโครงสร้างของรัฐ เพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ของสังคมให้ไม่กลับไปใช้ความรุนแรง กระบวนการเหล่านี้ย่อมไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการทหารบกในช่วงเวลาเดียวกับที่ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมประชาชนปี พ.ศ.2553 พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนั้นมีสถานะเป็นผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงในขณะนั้น จีงขาดความชอบธรรมในฐานะคนกลางและย่อมจุดชนวนให้ความขัดแย้งนั้นร้าวลึกจนไม่อาจเข้าใกล้คำว่า “สมานฉันท์” ตามที่ระบุไว้ในพระราชโองการประกาศแต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *