แรงงานเฮ กลุ่มบริษัทในเครือ RB ขยายสิทธิ์ลาคลอด 182 วัน-จ่ายค่าจ้าง 100 %

แรงงานเฮ กลุ่มบริษัทในเครือ RB ขยายสิทธิ์ลาคลอด 182 วัน-จ่ายค่าจ้าง 100 %

22 เมษายน 2653 เรืองรุ่ง วิเชียรพงษ์ นักสหภาพแรงงานได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุกลุ่มบริษัทในเครือ RB ประกาศนโยบายขยายสิทธิ์ลาคลอดแก่พนักงานหญิง และสิทธิ์ลาดูแลบุตรแก่พนักงานชาย รวมถึงพนักงานเพศทางเลือก

พนักงานหญิงตั้งครรถ์สามารถลาคลอดได้
– จากเดิม 16 สัปดาห์ หรือ 112 วัน จ่ายค่าจ้าง 100%
– เพิ่มเป็น 26 สัปดาห์ หรือ 182 วัน จ่ายค่าจ้าง 100%
และสามารถลาเพิ่มอีกได้ 182 วัน แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง

พนักงานชายสามารถลาดูแลบุตรได้
– จากเดิม 1 สัปดาห์ หรือ 7 วัน
– เพิ่มเป็น 4 สัปดาห์ หรือ 28 วัน
และสามารถลาเพิ่มอีกได้ 28 วัน แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง

พนักงานเพศทางเลือก
– RB คำนึงถึงสิทธิ์ความเท่าเทียมสำหรับพนักงานทุกคนที่ต้องการมีครอบครัว ฉะนั้นนโยบายการลาคลอด ลาดูแลบุตร การรับอุปการะบุตรบุญธรรม ให้มีผลบังคับใช้กับพนักงานทุกคน

สำหรับ RB หรือ Reckitt Benckiser Group เป็นผู้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ มี 3 แห่ง คือ

1) บริษัท เอสเอสแอลแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ผลิตถุงยางอนามัย
2) บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอมตะ จ.ชลบุรี ผลิตนม เอนฟาโกร
3) บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ เฮลธ์แคร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่ย่านบางพลี สมุทรปราการ ผลิตยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอตรา สเตร็ปซิล

การบรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าว ถือเป็นบทบาทสำคัญของขบวนการแรงงานที่มีการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบทบาทของสหภาพแรงงาน SSL และสมาชิก ซึ่งได้ออกมารณรงค์เรียกร้องสิทธิลาคลอด โดยใช้โอกาสในวันสำคัญของแรงงานและสิทธิสตรี เช่น วันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม วันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม วันงานที่มีคุณค่า วันที่ 7 ตุลาคม จนมีส่วนทำให้ผู้บริหารสถานประกอบการมีนโยบายดังกล่าว

ในส่วนของข้อเสนอของเครือข่าย We fair ในประเด็นสิทธิการลาคลอด ในชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ได้เสนอให้ พนักงานสตรีมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม ส่วนพนักงานชายสามารถใช้สิทธิลาได้ 30 วัน ทั้งนี้ สิทธิดังกล่าวครอบคลุมไปยังเพศสภาพที่ดูแลเด็กด้วย

ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 5 เมษายน 2562 ระบุให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดได้ จากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน และการลาเพื่อคลอดบุตร หมายความรวมถึงการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าจ้างในวันลายังไม่มีการแก้ไข กล่าวคือลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่ลา 45 วัน เช่นเดิม ส่วนอีก 8 วันที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีลูกจ้างใช้สิทธิลาครบ 98 วัน) นายจ้างจะจ่ายหรือไม่ก็แล้วแต่ตกลงกัน

นอกจากนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization :ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) (Maternity Protection Convention, 2000) No. 183

 

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *