ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : พระราชบัญญัติประชารัฐ-สวัสดิการคือการถอยหลังสู่อภิมหาสังคมสงเคราะห์และลดค่าความเป็นพลเมืองของมนุษย์

 

พระราชบัญญัติประชารัฐ-สวัสดิการคือการถอยหลังสู่อภิมหาสังคมสงเคราะห์และลดค่าความเป็นพลเมืองของมนุษย์

อ่านเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการฯ ฉบับเต็มที่ https://goo.gl/agkrYo

วันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของสังคม ร่างกฎหมายนี้นอกจากชื่อที่ผิดฝาผิดตัวกับเนื้อหาแล้วยังเป็นการยืนยันการเดินถอยหลังเข้าคลองของการพัฒนาสวัสดิการและความมั่นคงของมนุษย์โดยเป็นการยืนยันหลักการสงเคราะห์อนาถาให้เป็นระบบมากขึ้น และทำให้สวัสดิการกลายเป็นเรื่องของคนรวยให้คนจน ตามคติแบบเวทนานิยมที่กลายเป็นเสาหลักของการแก้ความเหลื่อมล้ำในไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นใหญ่คือ

1.ปัญหาเชิงหลักการว่าด้วยสวัสดิการในสังคมไทยที่สะท้อนออกมาเป็น พ.ร.บ.-อภิมหาสังคมสงเคราะห์อนาถาฉบับนี้ และ 2.ภาพสะท้อนเชิงประจักษ์รายมาตราสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

1.ปัญหาเชิงหลักการว่าด้วยสวัสดิการในสังคมไทย ภาพสะท้อนของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการยืนยันให้เห็นถึงความ เข้าใจของชนชั้นนำไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร เทคโนแครตด้านสังคมสงเคราะห์ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ต้องการโยนเพียงเศษเนื้อในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนสุญญากาศ ประเทศไทยรายได้เฉลี่ยครัวเรือน อยู่ที่ 26,000 บาท ต่อครัวเรือน สำหรับค่าเฉลี่ยที่มีสมาชิกต่อครัวเรือนประมาณ 3 คน โดยที่ค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต 1คนอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท /เดือน และจากการจำแนกรายได้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อาจมีครัวเรือนร้อยละ 65 หรือกว่า 13 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าความเพียงพอต่อการดำรงชีพพื้นฐาน ยังไม่นับรวมชนชั้นกลางที่ปากกัดตีนถีบอีกจำนวนมากของสังคม ที่ต้องใช้ชีวิตกับการลงทุนในสิ่งที่ตัวเองควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงหลักประกันยามเกษียณ ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่ความน่าสงสารหรือการเสียโอกาสในชีวิตแต่กีดขวางความเจริญและสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ความเหลื่อมล้ำที่มากมายนี้เกิดขึ้นจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำ การปล้นชิงมูลค่าส่วนเกินในสังคม ลักษณะเช่นนี้สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล

กล่าวโดยสรุป ความยากจนไม่ได้เกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่ขยัน ไม่ฉลาด ไม่ขวนขวาย พวกเขาทำงานหนัก พยายาม ลงทุน เป็นหนี้ที่เกิดจากชีวิตประจำวัน เศษเงินจากการสงเคราะห์ ไม่สามารถยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ การจะยกระดับชีวิตของคนส่วนมากขึ้นมาได้ต้องทำผ่านการดึง “คนข้างบน” เฉลี่ยส่วนเกินที่มีมา เพื่อสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าการสงเคราะห์ในลักษณะที่เกิดขึ้น

ปัญหาของระบบสงเคราะห์ และพิสูจน์ความจนเพื่อรับสิทธิดังปรากฏใน พ.ร.บ.ฉบับนี้แสดงปัญหา 3 ด้านประกอบด้วย

1) ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการเพื่อพิสูจน์ความจน ซึ่งเสียทั้งงบประมาณในการออกแบบระบบ จ้างบุคลากร และเสียเวลาในการอบรมเพื่อสร้างบุคลากรเพื่อพิสูจน์ความจน รวมทั้งการทำให้รัฐราชการใหญ่เทอะทะโดยที่งบประมาณสวัสดิการไม่ได้ตกสู่มือประชาชน

2) การลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านการพิสูจน์ความยากจนเพื่อรับสิทธิ์ เมื่อระบบไม่ได้ออกแบบให้ใช้กับทุกคน จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของคนจนอนาถา เขาจะตั้งกำแพงที่สูงขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยทางชนชั้นแก่ตนเอง กำแพงสูงนี้ยิ่งทำให้ชีวิตของเขายากลำบาก คนที่รวยขึ้นไม่ใช่ชนชั้นกลางแต่เป็นกลุ่มทุนที่หากำไรจากระบบสวัสดิการต่างๆ เช่น โรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลเอกชน กองทุนบำนาญ ฯลฯ

3) เมื่อสวัสดิการเป็นการสงเคราะห์ย่อมทำให้งบประมาณจำกัดไม่ทั่วถึงและไม่ตอบสนองต่อสภาพจริงของสังคมไทยที่มีคนเกือบจน อยู่มากกว่าครึ่งประเทศ การสร้างสวัสดิการที่ยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นนำไม่ใช่เพียงแค่การจัดระบบเศษเนื้อแบบบัตรคนจน หรือหลักการของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

2.ปัญหาสำคัญรายมาตรา รูปธรรมต่อปัญหาข้างต้นปรากฏในลักษณะสำคัญรายมาตราดังนี้

มาตรา 5 คุณสมบัติของกรรมการมาจากการแต่งตั้งโดยกีดกันฝ่ายการเมืองออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีกระบวนการประชาธิปไตยในการสรรหา คณะกรรมการโดยตำแหน่งทั้งหมดเป็นข้าราชการประจำ เว้นเพียงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

มาตรา 8 (3) เป็นการยืนยันว่าร่างพรบ.นี้มุ่งจัดสวัสดิการให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นการท้าทายระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าในฐานะสิทธิพื้นฐานของประชาชน และยืนยันหลักการสังคมสงเคราะห์

มาตรา 12 ยืนยันหลักการบัตรคนจน ที่ผ่านการพิสูจน์ ที่เป็นการยืนยันศักดิ์ศรีที่แตกต่างกันของมนุษย์ และยังเพิ่มเติมขั้นตอนการพิสูจน์ให้มีความชัดเจน

มาตรา 14 ที่มาของกองทุนนี้จะมีลักษณะคล้ายกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่มีทุนประเดิม การแสวงหากำไร-ดอกผล แต่เพิ่มเติมคือการเปิดโอกาสรับการบริจาคเข้ากองทุนลักษณะนี้เป็นการยืนยันความเหลื่อมล้ำว่า แทนที่สวัสดิการของประชาชนจะมาจากการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างเป็นระบบจากอภิสิทธิชนในสังคมกลับย้อนกลับไปสู่การบริจาค และผู้บริจาคนี้นอกจากได้ผลิตซ้ำวัฒนธรรมจารีตยังมีช่องทางในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม รวมถึงอิทธิพลในการกำหนดแนวทางสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย

มาตรา 22 เป็นการยืนยันวิธีคิดของทุนนิยมกระแสหลักว่า มนุษย์ต้องปากกัดตีนถีบตลอดเวลา สวัสดิการเศษเนื้ออันน้อยนิดก็ยังคงถูกมองว่าไม่ใช่สิทธิพื้นฐาน มาตรา 22 เปิดโอกาสภายใต้ข้อสมมติว่า หาก “คนจน” หมดประเทศแล้วก็ไม่ต้องมีระบบสวัสดิการอะไรเลย สามารถยุบกองทุนได้เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็น และเมื่อถึงตอนนั้นปลายทางเมื่อระบบถ้วนหน้าถูกทำลายให้เหลือเพียงระบบสงเคราะห์ และระบบสงเคราะห์ถูกทำลายเมื่อมนุษย์ สามารถวิ่งได้เป็นหนูถีบจักร วันนี้เราจะไม่เหลืออะไรเลยนอกจากชีวิตมนุษย์เศรษฐกิจที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย

ทางออกสำคัญเราต้องปฏิเสธจุดเริ่มต้นของอภิมหาสังคมสงเคราะห์ และการจัดระบบเศษเนื้อของรัฐบาล คสช.ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ผ่านการพิสูจน์ความจน ลักษณะเช่นนี้นอกจากจะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ยังเป็นการเพิ่มอำนาจของอภิชนในสังคม จุดหมายปลายทางที่แจริงของภาคประชาชนคือการผลักดัน “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร” สำหรับทุกคนโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์แบบสงเคราะห์ ระบบนี้จำเป็นต้องท้าทายอำนาจทั้งชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยากเย็นแต่คุ้มค่าในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หาใช่ระบบสงเคราะห์ที่ถูกสร้างจากรัฐบาลอำนาจนิยม

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้เขียน

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *