อุปสรรคของการเป็นรัฐสวัสดิการของประเทศไทยภายใต้ฐานคิดการสงเคราะห์แบบการกุศล ตอนที่ 1
ผู้เขียน กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
การทบทวนข้อเสนอเพื่อให้เกิดหรือเป็นรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริงนั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เฉพาะการยกระดับหรือปรับปรุงรายการสวัสดิการที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ถือเป็นการเพิ่มรายการที่มีอยู่หรือขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรนั้น ๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้รื้อฐานโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ผูกขาดทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสินทรัพย์ส่วนรวม หรือที่เรียกว่า “ระบอบ” (regime) ของการปกครองประเทศ ย่อยไม่สามารถทำให้เกิดการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า (universal welfare) ที่มากเกินไปกว่าการจัดสวัสดิการขึ้นบนฐานมาตรฐานขั้นต่ำของความมั่นคงทางสังคม เช่น กรณีการประกันสังคม ก็จัดทำขึ้นเพื่อความสอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 102 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)[1]
ซึ่งผลงานรัฐบาลที่ผ่านมาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงให้เห็นว่า ทิศทางของการจัดสวัสดิการบนฐานการกุศล/บริจาคทาน (charity-based approach) เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแรกเริ่มที่เรียกว่า “บัตรคนจน” เป็นสวัสดิการที่ใช้เครื่องมือคัดกรองเพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขความยากจนทั้งรายได้และทรัพย์สิน แต่โครงการนี้ไม่ได้ตระหนักว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของการปกป้อง การคุ้มครอง การประกัน การบรรเทา และการรับมือบนฐานความเสี่ยง ปัจจัยพื้นฐาน และสิทธิ (risks/needs/rights-based approaches)[2] บ่อยครั้งรัฐบาลและหน่วยงานรัฐมองว่า สวัสดิการเป็นภาระของงบประมาณทางการคลัง แต่ไม่มองว่าจะทำอย่างไรถึงลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม เพื่อให้ประชากรมีชีวิตที่กินดี อยู่ดี และมีความสุข เป็นเป้าหมายพื้นฐานของนโยบายและสวัสดิการสังคม แล้วจำเป็นต้องเข้าใจว่า “รัฐสวัสดิการนับรวมระบบสวัสดิการทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งในระบอบ” ดังนั้น ความหมายของรัฐสวัสดิการจึงฉายภาพกว้างและใหญ่กว่าสวัสดิการสังคม[3] ขณะที่ข้อจำกัดหรืออุปสรรคของประเทศไทย เหตุใดจึงไม่สามารถผลักดันให้เป็นรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และถ้วนหน้า จะต้องสร้างตัวแบบระบอบรัฐสวัสดิการโดยอิงจากบริบทเฉพาะประเทศ หรือถอดความสำเร็จของแต่ละประเทศที่มีระบอบรัฐสวัสดิการแตกต่างกันมาเป็นแนวทาง แต่ไม่ว่าจะแบบใด ต้องปลดล็อคเงื่อนไขของการจัดสรรทรัพยากร ให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในอัตราก้าวหน้า ทำให้ประชากรเข้าสู่ระบบทางการเพื่อยืนยันสถานะและรับผิดชอบจ่ายภาษี และกำหนดหน้าที่ของรัฐต้องทำให้ทุกคนเกิดมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบเสมอภาคเท่าเทียมกัน
การจัดสวัสดิการสังคมบนฐานการกุศลเป็นแรงต้านทานของการสร้างรัฐสวัสดิการ
การสถาปนาองค์ความรู้ทางสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ในหนังสือและตำราเรียนของนักวิชาการในทศวรรษ 1980-1990 มักเสนอว่า งานสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นมาตั้งแต่กษัตริย์ของนครรัฐสยามหรือเจ้านายที่ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ (social assistance) มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เช่น สภาอุณาโลมแดง แรกเริ่มตั้งขึ้นมาเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยหรือบาดเจ็บจากการศึกสงคราม หรือที่ทราบกันในปัจจุบัน คือ สภากาชาดไทย[4] ขณะที่บางคนเสนอถอยกลับว่าเริ่มต้นตั้งแต่ราชธานีสุโขทัย[5] งานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์จึงตั้งอยู่บนฐานการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้หรืออนาถาตามแนวภารกิจขององค์กรนั้น ๆ ต่อมาการจัดสวัสดิการบนฐานการกุศลเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นชอบและจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ในปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) กล่าวได้ว่า สวัสดิการสังคมเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ แล้วเมื่อภารกิจด้านนี้กำหนดเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หลังจากจัดตั้งองค์กรจึงมอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการเรื่องสวัสดิการสังคม ครอบคลุมทั้งการสงเคราะห์เด็ก ครอบครัว งานอาชีพ ที่อยู่อาศัย กรรมกร ผู้ประสบภัย คนทุพพลภาพและคนชรา ดังนั้น ทัศนะของผู้ให้การสงเคราะห์มองว่าเพื่อให้คนเหล่านี้หลุดพ้นจากความยากลำบากและพึ่งพาตนเองได้ การครอบงำของอภิสิทธิ์ชน ทั้งโครงข่ายความสัมพันธ์ของเหล่าเจ้านายและขุนนาง ยังเห็นว่า งานด้านนี้คือ การกุศล/บริจาคทาน เป็นเหตุให้การเรียนรู้การสอนทางด้านวิชาชีพทางสังคม (Professional Social Work) ถูกเรียกว่า “งานสังคมสงเคราะห์” แล้วในอดีตยังเห็นการใช้คำสลับไปมาทั้งสวัสดิการสังคม (social welfare) สังคมสงเคราะห์ (social work) ประชาสงเคราะห์ (public welfare) ไม่มีคำจำกัดความที่เป็นเอกภาพเพียงชุดเดียว[6] เนื่องจากการสถาปนาองค์ความรู้และจัดทำหลักสูตรสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ก่อนจะถ่ายโอนมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดอบรมเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ เรียกว่า นักวัฒนธรรมสงเคราะห์ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์[7] ขณะที่คนที่มีส่วนร่วมต่อการก่อตั้งคณะด้านนี้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทบไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม แล้วต่อมายังเห็นความสัมพันธ์อันแนบชิดระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษาตลอดทศวรรษ 1960-1980 ส่งผลให้ภาครัฐครอบงำองค์ความรู้การศึกษาด้านนี้ไม่น้อย แล้วกำกับทิศทางให้การผลิตบุคลากรเพื่อป้อนอุปสงค์การจ้างงานของภาครัฐ มากกว่าพินิจวิเคราะห์องค์ความรู้เรื่องนี้ในต่างประเทศ
อย่างไรแล้วแรงต้านทานของการสังคมสงเคราะห์โดยเจ้านายและขุนนางบางกลุ่ม เป็นอุปสรรคต่อการก่อรูปทางความคิดว่าสวัสดิการควรเป็นมุมมองด้านสิทธิและความต้องการพื้นฐาน ไม่ใช่ครอบงำด้วยการมองว่าสวัสดิการบนฐานการกุศล/บริจาคทาน อาจอนุมานได้ว่า ระหว่างทศวรรษ 1950-1960 เป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดของคนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเค้าโครงเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รัฐบาลต้องรับประกันหรือสร้างความมั่นคงทางสังคมให้พลเมืองทุกคน จึงเสนอให้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้แก่ประชาชน[8] แต่ข้อเสนอนี้เกิดแรงเสียดทานต่อโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองของอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้น ทั้งที่แนวคิดนี้เหมือนคล้ายคลึงกับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่กล่าวถึงอยู่ท่ามกลางกระแสปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หากถอยกลับมาพิจารณาการปฏิวัติ 2475 ก็ไม่ได้ยืนยันว่าประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มี 3 ใน 6 ข้อเกี่ยวกับความกินดีอยู่ดีและคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ “การจัดหางาน มีสิทธิเสมอภาค และได้รับโอกาสทางการศึกษา” เป็นหมุดหมายชี้ทาง เพราะอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้นไม่สนับสนุนประชาชนมีชีวิตที่ดี แต่ให้เป็นจุดเริ่มต้นการวางหมุดหมายสวัสดิการสังคมไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับการต่อสู้ในปัจจุบัน
ต่อมา วิธีคิดสังคมสงเคราะห์ที่ตั้งอยู่บนฐานการกุศล/บริจาคทาน ได้ผสมผสานระหว่างอุดมการณ์ของชาตินิยมและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่ง Christian Aspalter จำแนกระบอบรัฐสวัสดิการของไทยมีอุดมการณ์สวัสดิการแบบ Pro-welfare conservative[9] นอกจากนี้ การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือทางสังคมจึงมองว่าทุกคนเกิดไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องของผลบุญกรรมของแต่ละคน การทำคุณงามความดีเพราะเชื่อเรื่องชีวิตโลกหน้า แล้วผู้เล่นสำคัญคือ วัด เป็นสถานที่ศูนย์รวมของการทำหน้าที่สังคมสงเคราะห์ จึงเป็นส่วนสำคัญให้อภิสิทธิ์ชนทำงานสงเคราะห์ เพื่อสะสมผลบุญในชาตินี้ เช่น การบริจาคอาหารในโรงทานให้ผู้ยากไร้หรือด้อยโอกาส[10] จึงไม่ใช่การสร้างสถานะของการสังคมสงเคราะห์ด้วยประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติ (nation-building) อย่างที่กล่าวไปก่อนนี้ แต่ยังอ้างถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น สังคหวัตถุ เป็นคำสอนที่แสดงถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งการแสดงออกทางกายและใจต่อตนเองและผู้อื่น[11]
แต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดการปรับตัวของงานสังคมสงเคราะห์ได้เป็นอย่างดี เพราะเดิมทีกระทรวงวัฒนธรรมรวมศูนย์อำนาจของงานนี้ไว้เป็นภารกิจของรัฐ แต่อิทธิพลภายนอกประเทศทำให้อภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากเวทีนานาประเทศ เช่น
(1) การขอรับความช่วยเหลือจาก ILO ให้ เมธี ดุลยจินดา มาช่วยพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ แล้วหนึ่งในนั้นจำแนกให้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของการสงเคราะห์ทางสังคม[12] เพราะรัฐบาลเกรงกลัวแรงงานเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศและเสถียรภาพการปกครอง จึงไม่แปลกใจที่ภาครัฐดูหมิ่นและเหยียดหยามการรวมกลุ่มเป็นองค์กรแรงงานเป็นเรื่องของการขาดศีลธรรมและไร้ความรู้ของแรงงาน[13]
(2) การสนับสนุนจาก ILO เพื่อพัฒนาการประกันสังคมและเคยจะก้าวหน้ากว่าญี่ปุ่น และได้รับคำชมว่าจะเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก[14] สองตัวอย่างนี้คือ การปรับฉากทัศน์ของงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ที่ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและอภิสิทธิ์ชน แล้วบทบาทเช่นนี้ยังดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปลายทศวรรษ 1980 ดังที่หลังจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดการค้ำจุนงานสังคมสงเคราะห์ที่มีวิธีคิดแบบการกุศล/บริจาคทาน นำไปสู่การจัดสรรอำนาจให้สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ร่วมขับเคลื่อนงานสังคม
สงเคราะห์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่โครงข่ายอำนาจของอภิสิทธิ์ชน ระหว่างทศวรรษ 1960-1980 คนกลุ่มเหล่านี้ที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชาติไว้ ก็ใช้การสังคมสงเคราะห์หรือการประชาสงเคราะห์เป็นเครื่องมือของการบริหารสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกทางสถาบันของกรมประชาสงเคราะห์ที่ใช้โครงการการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การสร้างนิคมสร้างตนเองเพื่อผลักให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้างบริเวณหัวลำโพงกลับคืนสู่ชนบทถิ่นฐาน แล้วจัดสรรที่ดินให้สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม[15] และการสงเคราะห์ชาวเขาเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ประชาชนท้องที่มีงานทำและลดช่องว่างของชาติพันธุ์ระหว่างไทยและความเป็นอื่น ซึ่งอาจเป็นเหตุของความขัดแย้ง[16] แต่อีกด้านใช้สวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกำแพงป้องกันการปะทะจากขบวนการคอมมิวนิสต์ตามตะเข็บชายแดน[17]
แล้วหลังจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ค่อย ๆ ส่งผลให้งานสังคมสงเคราะห์ที่ใช้สร้างภาพลักษณ์ของอภิสิทธิ์ชนลดความสำคัญลง เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบ high politics ได้ลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 เกิดการเอื้อประโยชน์ทุนไทยร่วมกับทุนข้ามชาติทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร สร้างความเหลื่อมล้ำเพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไม่สมดุล เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) เริ่มเห็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการพัฒนาชนบทเพื่อลดความยากจน ส่งผลให้การสังคมสงเคราะห์แบบการกุศลลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ แล้วความสำเร็จของการสถาปนาแนวทางการพัฒนาของความพอเพียง จนเกิดข้อถกเถียงต่อมาว่าจริงแล้วเป็นปรัชญาของแก่นวิธีคิด[18] แต่อีกด้านเกิดการวิพากษ์แนวทางการพัฒนานี้คือวาทกรรมของการครองอำนาจนำทางวัฒนธรรม (cultural hegemony) เป็นปฏิบัติการที่ครอบงำโดยใช้กลไกต่าง ๆ ทางสถาบัน[19]
นอกจากนี้ งานสังคมสงเคราะห์ไทย ทำให้เห็นว่า จริงแล้วการช่วยเหลือเกิดขึ้นมาเพราะการเกื้อกูลและแบ่งปันกันของผู้คนในชุมชนและสังคม เป็นความสัมพันธ์ที่ในปัจจุบันเรียกว่า การคุ้มครองทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ (informal social protection) แล้วผู้จัดสวัสดิการหลักคือ ผู้เล่นไม่เป็นทางการ (non-state welfare provision) เช่น แกนนำชุมชน กลุ่มสหอาชีพ สหกรณ์ หรืออื่น ๆ แต่อภิสิทธิ์ชนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม พยายามช่วงชิงความหมายเรื่องนี้แล้วผูกขาดเป็นหน้าที่ของกลไกเชิงสถาบันรัฐฝ่ายเดียว เพื่อทำให้สวัสดิการเป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งหรือ top-down ในแง่ของอนาถาสงเคราะห์ หรือ คำ/ภาษาในปัจจุบัน วิวัฒน์เปลี่ยนแปลงสวยขึ้นจากการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มาเรียกว่าการช่วยเหลือคนเปราะบาง ทั้งยังเห็นอีกว่า การสังคมสงเคราะห์วิชาชีพในแวดวงวิชาการ พยายามสร้างตำแหน่งแห่งที่ใหม่ว่างานอาสาสมัคร เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์ เพราะไม่ได้ทำงานเป็นไปตามกระบวนการและจริยธรรมทางวิชาชีพ ทั้งที่งานอาสาสมัครเหล่านี้เดิมทีเป็นจุดเริ่มต้นของการสังคมสงเคราะห์ภาคเอกชน แล้วความหมายของการสังคมสงเคราะห์นี้เก็ตกทอดมาถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มิหนำซ้ำสาธารณชนก็แยกไม่ออกว่างานสังคมสงเคราะห์ต่างอะไรกับอาสาสมัคร
จากที่นำเสนอให้เห็นข้อจำกัดของการสร้างรัฐสวัสดิการ พร้อมกับการยกระดับสวัสดิการสังคมไว้โดยสังเขป จึงเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาเงื่อนไขของบริบททางประวัติศาสตร์ ที่ครอบงำวิธีคิดของผู้คนในสังคมว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของการสงเคราะห์/ช่วยเหลือทางสังคมบนฐานการกุศล/บริจาคทาน ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า อภิสิทธิ์ชนทั้งหลายไม่ได้ต้องการให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีสุข เหมือนกับการให้แรงงานทำงานน้อยลงแต่ได้เงินมากขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิการทำงาน โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม ไม่ได้สร้างความท้าทายต่อผู้ว่าจ้าของสถานประกอบการแห่งนั้น แต่การเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการแรงงาน ยังทำให้ชนชั้นอภิสิทธิ์เกิดแรงต้านทานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้เกรงกลัวมากสุด จึงอนุมานได้ว่า การจำแนกให้เรื่องของการรวมกลุ่มเหมือนจะมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่การนัดหยุดงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 เพราะเสี่ยงว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น[20] เพราะรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดไม่เคยไว้วางใจและเป็นมิตรกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน อีกด้านรัฐบาลพยายามช่วยเหลือเป็นโครงการเฉพาะหน้า แต่ไม่แตะต้องถึงโครงสร้างอำนาจที่ผูกขาดของกลุ่มทุนต่าง ๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม
[1] อนุสัญญาฉบับที่ 102 ศึกษาเพิ่มเติมจาก https://bit.ly/3CRI6pO
[2] Munro, L. T. (2008). Risks, needs and rights: compatible or contradictory bases for social protection. In A. Barrientos & D. Hulme (eds.), Social protection for the poor and poorest: Concepts, policies, and politics (pp. 27-46). New York: Palgrave Macmillan.
[3] Kennedy, P. (2013). Key Themes in Social Policy. Oxon: Routledge.
[4] สภากาชาดสยาม. ความรู้บางอย่างเกี่ยวด้วยการกาชาดและสภากาชาดสยาม ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ พระยาราชนกูล ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 เข้าถึงจาก Digital TU library
[5] ตัวอย่างเอกสารที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสังคมสงเคราะห์มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาหลายร้อยปี โดยเฉพาะอิทธิพลทางศาสนาและผู้ปกครองนครรัฐ เช่น (1) พรรณี ประจวบเหมาะ. (2523). การสังคมสงเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ. (2) นงลักษณ์ เทพสวัสดิ์. (2536). ทฤษฎีและการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ (เอกสารประกอบการสอน). คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (3) นิคม จันทรวิทุร. (2510). วิวัฒนาการการสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย. (4) สุวรรณ รื่นยศ. (2511). การประชาสงเคราะห์. กรุงเทพฯ: กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงมหาดไทย.
[6] อ้างแล้วในรายการ 5(4)
[7] รายงานการจัดตั้งสถานศึกษาสังคมสงเคราะห์ของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ประธานสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง แด่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในตำแหน่งบังคับบัญชาสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการเปิดสถานศึกษาสังคมสงเคราะห์ วันที่ 15 มกราคม 2496 ในหน้า 111-117 ของหนังสือชุมชนสุนทรพจน์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายขีต ขีตตะสังคะ และ นายเจริญ พันธุกระวี ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2496 เข้าถึงจาก Digital TU library
[8] ปรีดี พนมยงค์. (2552). เค้าโครงเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
[9] ในข้อเสนอนี้แบ่งระบอบรัฐสวัสดิการออกเป็นห้ากลุ่ม คือ (1) รัฐสวัสดิการแบบสังคมประชาธิปไตย (2) รัฐสวัสดิการแบบคริสเตียนประชาธิปไตย (3) รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม (4) รัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว (5) รัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้าน ซึ่งประเทศ
[10] ตำราหนังสือด้านสังคมสงเคราะห์ จะพบว่า ย้อนกลับพิจารณาการสังคมสงเคราะห์ที่ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศไทยเป็นฐานการทำความเข้าใจเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือพุทธศาสนา อ่านเพิ่มเติมได้จากที่อ้างแล้วในรายการ 5
[11] สังคมสงเคราะห์ เรียบเรียงโดย เกษม บุญศรี จัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ณาปนกิจศพ นางปั่น กลิ่นแก้ว ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2512 เข้าถึงจาก Digital TU library
[12] เอกสารเรื่อง ขอผู้ชำนาญการทางสังคมสงเคราะห์ (เมธี ดุลยจินดา) ปี 2496 เข้าถึงจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
[13] เอกสารเรื่อง บันทึกย่อความเห็นและความเห็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและข้อแนะ ปี 2497 เข้าถึงจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
[14] ศึกษาเพิ่มเติมที่ (1) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2497 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 71 ตอนที่ 11 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2497 (2) International Labour Office. (1959). Report to the Government of Thailand on Social Security Measures. (Expanded Programme of Technical Assistance). Geneva: International Labour Office. (3) International Labour Office. (1956). Report to the Government of Thailand on the Application of the Social Insurance Act. (Expanded Programme of Technical Assistance). Geneva: International Labour Office.
[15] (1) การเลิกสามล้อในพระนคร (หน้า 70-77) ในหนังสือ ชีวิตและงานสังคมสงเคราะห์ของ สุวรรณ รื่นยศ (2) ปกรณ์ อังศุสิงห์. การประชาสงเคราะห์ของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต. คำบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมประชาสงเคราะห์ 1 กันยายน พ.ศ. 2502 (3) นันทนัย์ ไชยสุต. (2534). ท่านศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ผู้บุกเบิกงานสวัสดิการสังคมของประเทศไทย. ใน แปดสิบสี่ปีปกรณ์. กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์.
[16] การพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาในประเทศไทย (หน้า 142-147) ในหนังสือ ชีวิตและงานสังคมสงเคราะห์ของ สุวรรณ รื่นยศ
[17] ชาญ พันธุมรัตน์. (2527). บทบาทของงานประชาสงเคราะห์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อความมั่นคงของชาติ. ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางอัมพา พันธุมรัตน์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2527
[18] Avery, G. C. & Bergsteiner, H. (eds.). Sufficiency thinking: Thailand’s gift to an unsustainable world. Sydney: Allen & Unwin.
[19] Isager, L. & Ivarsson, S. (2010). Strengthening the moral fibre of the nation: The King’s sufficiency economy as etho-politics. In S. Ivarsson & L. Isager (eds.), Saying the unsayable: Monarchy and democracy in Thailand (pp. 223-239). NIAS Press.
[20] มาตรา 117 (1) ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (2) ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าวและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ นั้น ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (3) ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าว และใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำให้หวาดกลัวด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ