ร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ราษฎร์ธรรมนูญเพื่อรัฐสวัสดิการ

ราษฎร์ธรรมนูญเพื่อรัฐสวัสดิการ
“รัฐสวัสดิการ” (welfare state) เป็นโครงสร้างทางสังคมที่คนทุกคนในสังคมมีสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม อันเป็นหลักประกันที่ทำให้ชีวิตของผู้คนในสังคมมีความปลอดภัย ความมั่นคง โดยรัฐมีบทบาทในการดูแลพลเมืองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พลเมืองมีสิทธิในสวัสดิการถ้วนหน้า ด้วยการจัดสรรงบประมาณจากระบบภาษีอัตราก้าวหน้า การกำหนดสิทธิประชาชนในการเข้าถึงสวัสดิการไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหลักประกันสำหรับประชาชน แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยก็ตาม
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อมองภาพรวมด้านสวัสดิการสังคมในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ศ.2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 มีการกำหนดโครงสร้างด้านสวัสดิการสังคมไว้ในทุกฉบับ อันถือเป็น “สวัสดิการโดยรัฐ” ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดการสงเคราะห์มากกว่าการกำหนดให้เป็นสิทธิของประชาชน ในขณะที่บทบาทของภาครัฐเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ไม่ครอบคลุมทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทำให้นัยสำคัญของสิทธิสวัสดิการประชาชนถดถอยลง ในขณะที่สวัสดิการภาครัฐปรับตัวสูงขึ้นจนมีการกล่าวถึงว่าเป็นระบบสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน
ประเด็นสวัสดิการสังคมในรัฐธรรมนูญ
กล่าวถึงประเด็นสวัสดิการสังคม ได้แก่ การศึกษา การรักษาพยาบาล แรงงาน ที่อยู่อาศัยและที่ดิน และประชากรกลุ่มเฉพาะ ประกอบด้วย เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี พบว่า รัฐธรรมนูญกำหนดถึงการช่วยเหลือ “ผู้ยากไร้” “ด้อยโอกาส” “ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” ทั้งยังเป็นการช่วยเหลืออย่างคลุมเครือ จากคำที่ระบุว่า “อย่างเหมาะสม” อย่างเพียงพอ” โดยในท้ายที่สุดก็จะอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณว่า การช่วยเหลือเหมาะสมและเพียงพอแล้ว
ประเด็นแรกด้านการศึกษา ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก อย่างฟินแลนด์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการ ได้มีการกำหนดให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ทุกคนมีสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภาครัฐต้องมีการรับประกันว่าทุกคนจะมีความเสมอภาคกันในโอกาสการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้โดยไม่มีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมาเป็นอุปสรรค และรับประกันเสรีภาพของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” เมื่อมาดูที่รัฐธรรมนูญไทย 2540 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ออกตามมาก็กำหนดไว้ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า “การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา” ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกคนจึงมีสิทธิเรียนฟรีตั้งแต่ ป.1-ม.6 หรือ ปวช. รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” จะเห็นได้ว่า คำว่า “ขั้นพื้นฐาน” ถูกตัดออก ต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวดหน้าที่ของรัฐเขียนว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนแปลงความหมายจาก “สิทธิของประชาชน” ไปเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ทั้งนี้ การเรียนฟรี 12 ปี เป็นการเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3 เท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้ “ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” สะท้อนถึงการมองการศึกษาเป็นการสงเคราะห์ จากการให้รัฐและกองทุนที่รัฐสนับสนุนช่วยเหลือ “ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์”
ประเด็นที่สองด้านการรักษาพยาบาล การรักษาพยาบาลและการรับบริการสาธารณสุขในประเทศไทยได้มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์ โดยในรัฐธรรมนูญปี 2540 หมวดสิทธิและเสรีภาพ ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุข และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยทั้งสองฉบับมีระบุเรื่องมาตรฐานและความเหมาะสมด้านสาธารณสุขไว้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” และได้เขียนแยกบรรทัดออกมาว่า “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ จะเห็นว่า ฉบับปี 2560 ตัดคำว่า “สิทธิเสมอกัน” ออกไปเหลือเพียงคำว่า “สิทธิ” เป็นการกำหนดสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” ให้เฉพาะ “ผู้ยากไร้”
สำหรับรัฐสวัสดิการแล้ว การมีหลักประกันความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อดูการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 “การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์” และฉบับปี 2550 ที่ได้ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีการขยายความว่า “ต้องทันต่อเหตุการณ์” สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันมีการรับรองสิทธิการเข้าถึงการรักษาสุขภาพ สวัสดิการด้านสาธารณสุข หลักประกันความเสี่ยงไว้ต่ำกว่าสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน
เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับกับประเทศรัฐสวัสดิการ จะเห็นว่าประเทศรัฐสวัสดิการจะมีหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมถ้วนหน้า และครบวงจรชีวิต ในประเทศฟินแลนด์จะมีการพูดถึงหลักประกันสุขภาพไว้ว่า ผู้ให้บริการหน่วยงานของรัฐต้องมีการ “รับประกันสำหรับทุกคน” ในบริการทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ
ประเด็นที่สามด้านแรงงาน สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างรัฐสวัสดิการให้เข็มแข็ง คือ นโยบายแรงงานที่พูดถึงสิทธิแรงงาน อันจะนำไปสู่การรวมตัว การมีอำนาจต่อรองนโยบายสวัสดิการอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญของประเทศฟินแลนด์ ได้เขียนข้อกำหนดไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิจัดชุมนุมได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต รวมทั้งสิทธิในการเข้าร่วม ทุกคนมีเสรีภาพในสหภาพ เสรีภาพในสหภาพก่อให้เกิดสิทธิในการจัดตั้งสหภาพ โดยไม่ต้องมีการอนุญาตให้เป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกของสหภาพ และการเข้าร่วมในกิจกรรมของสหภาพ เสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการจัดระบบเพื่อดูแลผลประโยชน์อื่นก็ต้องได้รับประกันเช่นเดียวกัน” เมื่อมาดูรัฐธรรมนูญ 2540 ได้พูดถึง การคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งแรงงานเด็กและสตรี กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมให้บุคคลวัยทำงานมีงานทำ มีประกันสังคม และระบบแรงงานสัมพันธ์ ให้แรงงานมีเสรีภาพรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็สามารถรวมตัวตั้งสหภาพข้าราชการได้ เท่าที่ไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และยังให้ แรงงานได้รับค่าตอบแทน “ที่เป็นธรรม” ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ รัฐต้องคุ้มครองให้บุคคลที่ทำงานซึ่งมีคุณค่าอย่างเดียวกันต้องได้ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทว่าในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่กำหนดเรื่องการรวมตัวของข้าราชการไว้ โดยกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพได้ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนและเป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ในการพูดถึงเสรีภาพในการรวมตัวโดยได้ตัดคำว่า สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน และองค์การพัฒนาเอกชน (NGO) จากใน ฉบับปี 2550 ออกไป โดยได้เพิ่มคำว่า องค์กร และชุมชน เข้ามาในรายชื่อกลุ่มที่ผู้ใช้แรงงานที่มีสิทธิในการรวมตัว สำหรับค่าตอบแทน รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนในเรื่องค่าตอบแทนจากเดิม ในฉบับปี 2540 และ 2550 ใช้คำว่าต้องได้รับค่าตอบแทน “ที่เป็นธรรม” ในฉบับปี 2560 ได้เปลี่ยนเป็นคำว่า ให้ได้รับรายได้ที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับได้พูดถึงประกันสังคม แต่ไม่มีการอธิบายรายละเอียด และอีกประเด็นสำคัญในฉบับปี 2560 ได้มีการตัดคำว่า “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ออกจาก 2 ฉบับก่อนหน้า เหลือเพียง “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ” ซึ่งอาจเป็นการลดความสำคัญของการสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานเช่นกัน
ประเด็นที่สี่ เด็กและเยาวชน ในรัฐธรรมนูญปี 2540 หมวดแนวนโยบายรัฐ ได้เขียนว่า “รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน” รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เขียนว่า “รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรม โดยคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย” รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ได้เขียนไว้ต่อจากประโยคก่อนหน้านี้ว่า “รัฐต้องสงเคราะห์ คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้” ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวดแนวนโยบายรัฐ เขียนไว้ว่า “รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ” ในประเด็นเด็กและเยาวชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะมีพื้นฐานแนวคิดการสงเคราะห์มากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นสิทธิ ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 มีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเขียนไว้ว่า “รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม” ต่างจาก รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มีคำว่า “รัฐต้อง” สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิสวัสดิการที่ลดถอยลง
ประเด็นที่ห้าด้านผู้สูงอายุ รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนเรื่องผู้สูงอายุไว้ว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ” และในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มคำว่า “มีสิทธิได้รับสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่ “เหมาะสม” จากรัฐ” แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้เพิ่มคำว่า “บุคคลยากไร้” เข้ามา โดยเขียนว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” หมายความว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการยังชีพไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
จากการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2560 ใน 5 ประเด็น ได้แก่ เด็กและเยาวชน การศึกษา การรักษาพยาบาล แรงงาน ผู้สูงอายุ เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีมุมมองในการจัดสวัสดิการแบบแยกกลุ่ม เน้นการสงเคราะห์เฉพาะคนยากไร้ แม้ว่าได้มีการกำหนดโครงสร้างด้านสวัสดิการให้เป็นสิทธิบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด มีการใช้คำว่า “ผู้ด้อยโอกาส” “ผู้ยากไร้” ในมาตรา 27 มาตรา 48 มาตรา 68 มาตรา 71 มาตรา 73 แทรกอยู่ในประเด็นของประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ เด็ก เด็กเล็ก เยาวชน สตรี ชาย หญิง พิการ ผู้สูงอายุ เกษตรกร รวมทั้งการรักษาพยาบาล ในขณะที่ประเด็นการศึกษาได้ใช้คำว่า “ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” สะท้อนความเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มองเรื่องสิทธิเสรีภาพ และไม่มีการกล่าวถึงการจัดการระบบภาษีและงบประมาณ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการ
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นรัฐสวัสดิการ
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องมีการออกแบบให้สังคมไทยมุ่งสู่รัฐสวัสดิการที่สวัสดิการสังคมเป็นสิทธิเสมอกัน การเข้าถึงสิทธิถ้วนหน้าเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีข้อเสนอที่เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้
- การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าและเป็นธรรม โดยบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาหรือการฝึกอบรมอาชีพ ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องสนับสนุนเงินอุดหนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในระหว่างการศึกษาตามช่วงวัย นอกจากนี้ รัฐต้องการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน เป็นทางเลือกของประชาชน ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐ
- บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนรวมด้วย สำหรับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์
- รัฐต้องคุ้มครองแรงงาน ระบบประกันสังคม ค่าแรงที่เป็นธรรม รัฐต้องส่งเสริมการจ้างงานและการทำงานเพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน บุคคลย่อมมีสิทธิในการดำรงชีพด้วยการจ้างงาน อาชีพ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เลือก คนทำงานจะได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานกรณีการว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร การเสียชีวิต และบำนาญชราภาพ คนทำงานมีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิในการรวมตัว โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต
- เด็กและเยาวชนมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐให้สามารถพัฒนาตนเองตามช่วงวัย เด็กและเยาวชนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ รัฐต้องสนับสนุนครอบครัวให้มีความสามารถที่จะรับรองความปลอดภัยและพัฒนาการของเด็ก
- บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับสวัสดิการและหลักประกันรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพ รัฐต้องจัดให้อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าและเป็นธรรม
- บุคคลมีสิทธิได้รับบริการขนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม
- บุคคลมีสิทธิเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่เป็นธรรม โดยการจำกัดการถือครองและกระจายการถือครองที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
เอกสารอ้างอิง
The Constitution of Finland, https://bit.ly/31Flb3W
ภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, https://www.eef.or.th/infographic-15-10-20/
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ, https://bit.ly/3oyxrfw
ประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก 10 อันดับ, https://www.bbc.com/thai/international-39599359
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10), https://bit.ly/31BKxQd