ดอม ขุนพินิจ : ความมั่นคงในชีวิตประชาชน ต้องเป็น ‘ความปกติใหม่’ ของสังคมไทย

ข้อเสนอนโยบายสวัสดิการสังคมสำหรับประเทศไทย ในวิถีชีวิต New Normal

ความมั่นคงในชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะในภาวะปกติหรือในยามวิกฤต ควรเป็นหนึ่งเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ เพราะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สังคมมนุษย์คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งท่ามกลางภัยต่างๆ ด้วยเหตุนี้ สำหรับประเทศใดๆก็ตาม รัฐจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนในชาติมีความมั่นคงในชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับพื้นฐานเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบริหารประเทศ

หนึ่งบทเรียนสำคัญที่สังคมมนุษย์ควรได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ นอกจากเรื่องมาตรการเพื่อป้องกันโรคระบาดแล้ว ก็คือเรื่องความเปราะบางของชีวิตคน

ความยากลำบากของคนไทยจำนวนมากที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมานี้สะท้อนความเปราะบางของชีวิตประชาชนชาวไทยได้อย่างชัดเจน เราได้เห็นกันแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤตใดๆก็ตามที่มาขัดขวางการใช้ชีวิตหรือเป็นภัยต่อสวัสดิภาพ ความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ย่อมถูกสั่นคลอนได้ และผู้ที่ต้องดิ้นรนอยู่แล้วในยามปกติก็จะยิ่งเปราะบางกว่าเดิม ความจริงข้อนี้ตอกย้ำว่าเราจำเป็นต้องเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาระบบสวัสดิการที่จะทำให้ประชาชนมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (safety net) อย่างถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่เพื่อให้คนไทยสามารถรอดผ่านวิกฤตต่างๆไปได้เมื่อเกิดขึ้น แต่เพื่อให้คนไทยทุกระดับฐานะได้มีชีวิตที่มีคุณภาพและมั่นคงในภาวะปกติด้วย

 

ความเคยชินกับความเหลื่อมล้ำ  : ความปกติเก่า ที่ต้องหมดไป

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ทำให้หลายสิ่งในประเทศไทยและทั่วโลกไม่อาจดำเนินไปตามวิถีปกติและต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อความเป็นอยู่โดยเฉพาะในเรื่องปากท้องของประชาชนชาวไทยอย่างหนักหน่วง

คำว่า “หนักหน่วง” ในที่นี้ไม่ใช่เพียงคำที่อยู่บนหน้ากระดาษ แต่มันหมายถึงความเดือดร้อนอันน่าอดสูที่ประชาชนไทยต้องเผชิญ เดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรายได้ จึงไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิต และหลายรายก็ถึงกับไม่สามารถซื้ออาหารเพื่อประทังชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัวในแต่ละวัน

แต่ก็แน่นอนอีกเช่นกันว่า “ความเดือดร้อน” ที่ว่านี้ยังแตกต่างไปตามระดับรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจอีกด้วย สมกับที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยกลุ่มผู้ที่มั่งคั่งมากที่สุด 1% แรกถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วน 50.4% ของทั้งประเทศ กลุ่ม 10% แรกถือครองเป็นสัดส่วน 76.6% ในขณะที่กลุ่มประชากรไทย 40% ที่มีความมั่งคั่งต่ำที่สุดถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนเพียง 1.4% เท่านั้น (ข้อมูล ณ ปี 2562) (Credit Suisse, 2019, p.168) นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของรายได้ กลุ่มประชากรไทย 40% ที่มีรายได้ต่ำที่สุดมีสัดส่วนของรายได้เพียง 14.18% (เฉลี่ย 3,408 บาทต่อคนต่อเดือน) ขณะที่กลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุดมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 35.29% ของรายได้ทั้งหมดในประเทศ (เฉลี่ย 33,933 บาทต่อคนต่อเดือน) (ข้อมูล ณ ปี 2560) (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2561, หน้า 9-10)

ด้วยความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เราจึงได้เห็นภาพคนไทยจำนวนมากต้องออกมาต่อแถวกลางแดดที่ร้อนระอุเพื่อรอขอรับบริจาคอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคจากประชาชนด้วยกันเอง หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นตัดสินใจจบชีวิตเพื่อหนีความอดอยาก ในขณะที่ยังมีคนไทยอีกกลุ่มได้ใช้ชีวิตช่วงกักตัวอย่างสุขสบายอยู่ในบ้านที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอาหารครบครัน ความเป็นไปเหล่านี้ในยามวิกฤตได้สะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีอันจะกิน โดยเฉพาะผู้ที่มีความมั่งคั่งมากพอให้สามารถเป็นผู้ “แบ่งปันความสุข” แก่ผู้อื่น กับผู้ยากไร้ที่ถูกความยากจนและภาวะวิกฤตบีบให้ต้องรับบทผู้รอรับความเมตตากรุณาจากผู้ที่ร่ำรวยกว่า นอกจากนี้เรายังได้เห็นประชาชนไทยผู้เดือดร้อนพากันตบเท้าเดินทางไปเฝ้ารอหน้ากระทรวงการคลังเพื่อร้องเรียนเรื่องการพิจารณาให้เงินเยียวยาของรัฐบาล ด้วยความหวังว่าจะได้เงินมาใช้ประทังชีวิตในยามวิกฤต เงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนนี้อาจไม่ใช่เงินที่มากมายและไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า “เพียงพอ” ต่อการใช้ชีวิตในหนึ่งเดือนของคนไทยจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำ แต่ในยามนี้ เงินจำนวนนี้คือความเป็นความตายของคนไทยอีกกลุ่มใหญ่ๆ โดยเฉพาะผู้เดือดร้อนที่ตกหล่นจากกระบวนการคัดกรองที่ไร้ประสิทธิภาพในระบบการให้เงินเยียวยาดังกล่าวของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืมก็คือความเป็นจริงที่ว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนไทยระดับฐานะต่างๆนี้มิได้เพิ่งอุบัติขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่อย่างใด ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากอยู่แล้ว เรียกได้ว่าความเหลื่อมล้ำที่เด่นชัดนี้เป็น “ความปกติ” อย่างหนึ่งของสังคมไทยมาตลอด เช่นเดียวกับความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนที่มีระดับรายได้และความมั่งคั่งต่ำ สิ่งเหล่านี้เป็นความปกติของสังคมไทยมานานแล้ว เพียงแต่ภาวะวิกฤตมาช่วยตอกย้ำและฉายภาพให้เราเห็นมันได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

ที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้น นอกจากปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็น “ความปกติ” ของสังคมไทยก็คือความเคยชินที่มีต่อปัญหาเหล่านี้ คนไทยหลายคนยังมองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนอย่างเราๆไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าใด เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ได้มุ่งเน้นปลูกฝังเรื่องการตระหนักถึงสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตจากการบริหารงานของรัฐบาลของประเทศ แต่มาถึงจุดนี้ ความไม่ตระหนักรู้เช่นนี้ต้องหมดไปได้แล้ว ความเดือดร้อนอย่างรุนแรงที่ถูกฉายให้เห็นเด่นชัดในช่วงวิกฤตครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญว่าพวกเราคนไทยต้องช่วยกันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนในประเทศไทยอย่างถ้วนหน้า

เพราะฉะนั้น เพื่อให้คนไทยทุกระดับฐานะไม่ต้องเป็นผู้เปราะบางทั้งในยามวิกฤตและยามปกติ พวกเราต้องเรียกร้องให้ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและนโยบายสวัสดิการสังคมอื่นๆที่จะส่งเสริมความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยทุกคน โดยไม่หลงเชื่อว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็น “เรื่องปกติ” ที่ผู้ที่ดัน “ซวย” เกิดมาเป็นคนจนในประเทศไทยก็เพียงแต่ต้องก้มหน้ายอมรับไป ซึ่งเป็นการผลักภาระของรัฐบาลที่ควรจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้เพื่อประชาชนในประเทศ

 

ความปกติใหม่หลังวิกฤต: สังคมไทยต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกมองเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่หลายคนรู้สึกเคยชิน แต่ปัญหาที่เป็นเหมือนข้อจำกัดในชีวิตที่แทบไม่มีทางออกและส่งผลเชิงลบโดยตรงต่อประชาชนจำนวนมากในประเทศเช่นนี้ ไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป ความเปราะบางท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นควรทำให้ความเคยชินหรือการยอมรับที่มีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้กลายเป็นเพียง “ความปกติเก่า” ที่หมดอายุไปและแทนที่ด้วย “ความปกติใหม่” ซึ่งควรจะหมายถึงการตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอันเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำเหลือประมาณในประเทศไทย โดยจะต้องเป็นความตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การร่วมกันเรียกร้องในภาคประชาชนให้เกิดการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังในระดับการบริหารประเทศโดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงอย่างถ้วนหน้าของประชาชนในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะรองรับการดำรงชีพในขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ซึ่งครอบคลุมปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาในระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนเบี้ยผู้สูงอายุ หรือเงินเดือนถ้วนหน้าที่จะช่วยให้ประชาชนทุกคนในประเทศรอดพ้นจากการมีชีวิตในระดับที่ต่ำกว่าขีดความยากจน โดยทั้งหมดนี้ต้องผ่านการศึกษาในเชิงนโยบายอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้ได้แนวทางที่พอดีและเหมาะสมที่สุดเพื่อเป็นฐานรองรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของประชาชนและส่งเสริมให้คนไทยได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพเพื่อมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป

เพื่อให้ส่งเสริมประชาชนไทยได้อย่างถ้วนหน้าและทั่วถึง นโยบายด้านรัฐสวัสดิการข้างต้นนี้จำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบการคมนาคมอย่างถนนและขนส่งมวลชน โรงเรียน สถานพยาบาล พื้นที่สาธารณะ หรือสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งต้องพัฒนากฎหมายให้ส่งเสริมความเสมอภาคและการแบ่งสรรทรัพยากรในประเทศอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกฎหมายด้านแรงงาน กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเพื่อป้องกันการกอบโกยทรัพยากรในประเทศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และกฎหมายด้านการเก็บภาษีที่ไม่เพียงแต่ต้องออกแบบให้ผู้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศมากต้องจ่ายมาก แต่ยังต้องทําให้ประชาชนทุกระดับเห็นว่าเงินภาษีที่จ่ายไปจะย้อนกลับคืนสู่พวกเขาในรูปแบบของสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆด้วย

หากทำได้ทั้งหมดนี้ ประชาชนไทยทุกระดับฐานะและทุกภูมิภาคของประเทศไม่เพียงแต่จะมีความมั่นคงมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤต แต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสในชีวิตที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในยามปกติด้วย วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่าความเปราะบางของประชาชนในชาติอันเนื่องมาจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไข นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่าระบบเยียวยายามวิกฤตหรือระบบสวัสดิการที่ต้องมีการพิสูจน์ความยากจนนั้นไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง เราจึงต้องร่วมกันเรียกร้องและผลักดันให้ประเทศไทยมีแนวทางการบริหารประเทศที่มุ่งเน้นคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่างถ้วนหน้าเป็นจุดมุ่งหมายหลัก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งอย่างแท้จริงและยั่งยืน ไม่ว่าจะในยามวิกฤตหรือในภาวะปกติก็ตาม

 

ทั้งหมดข้างต้นนี้ ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความหวังว่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นบ้านที่ดีและมั่นคงสำหรับประชาชนไทยทุกคนสักวันหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะในยามวิกฤต แต่รวมถึงในภาวะปกติด้วย หมดเวลาแล้วที่จะยังมีคนไทยจำนวนมากต้องดิ้นรนในทุกห้วงของชีวิตซึ่งยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อเกิดวิกฤต ขณะที่ยังมีมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งกลุ่มเล็กๆได้เสวยสุขอยู่บนกองเงินกองทองที่ดูจะเพิ่มพูนเรื่อยๆและมากมายมหาศาลจนใช้เท่าใดก็ไม่มีวันหมดจากการผูกขาดทรัพยากรในประเทศ การบริหารประเทศไทยต้องมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเสมอภาคทางโอกาสสำหรับคนไทยอย่างถ้วนหน้า แม้ว่าความฝันนี้อาจยังดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นได้ยากในปัจจุบัน แต่เมื่อถึงวันที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากประชาชนและมุ่งทำงานโดยมีคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุดดังที่ควรจะเป็นแล้วละก็ ผู้เขียนเชื่อว่าการพัฒนาระบบสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบกฎหมายที่จะส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ตลอดจนความเสมอภาคและความเป็นธรรมในประเทศไทยได้อย่างแท้จริงย่อมเป็นไปได้ และเมื่อถึงวันนั้นเราคงจะไม่ต้องเห็นคนไทยถูกความอดอยากบีบให้ออกมารับบทเป็น “ขอทาน” ที่ต้องรอ “บุญคุณ” จากประชาชนด้วยกันเองอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองเพื่อหนีจากความยากจน สิ่งเหล่านี้คือความน่าอดสูที่มีอยู่แล้วในยามปกติและยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดในภาวะวิกฤต ซึ่งไม่ควรจะเพียงแค่เกิดขึ้นแล้วผ่านไปเท่านั้น แต่ควรจะเป็นบทเรียนที่กระตุ้นให้เกิด “ความปกติใหม่” ในสังคมไทยกระแสหลัก ได้แก่การตระหนักถึงความเลวร้ายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขในระยะยาว

ปัญหาเช่นนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประชาชนคนใดคนหนึ่ง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนไม่อาจหมดไปได้ด้วยการตั้ง “ตู้ปันสุข” โดยประชาชนด้วยกันเอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีใครต้องรอรับ “ความสุข” จากใครดังที่เราเห็นในช่วงวิกฤตที่ผ่านมานี้ สุดท้ายแล้วการดูแลและเยียวยาประชาชนในขั้นพื้นฐานทั้งในยามปกติและในภาวะวิกฤตจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนจากการบริหารจัดการทรัพยากรและเงินภาษี เพราะฉะนั้นประชาชนไทยอย่างพวกเราจึงจำเป็นต้องผลักดันและเรียกร้องให้การบริหารประเทศไทยของเรามีจุดมุ่งหมายเช่นนี้ เพื่อความมั่นคงและคุณภาพในชีวิตของประชาชนไทยที่เรียกได้ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”​ อย่างแท้จริง อันเป็นสิทธิที่พวกเราคนไทยทุกคนพึงได้รับอย่างถ้วนหน้าและเสมอภาคกัน

 

หมายเหตุ:

บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขณะเพิ่งเริ่มเข้าสู่ ‘วิถีปกติใหม่’ (new normal) ขณะนี้เมื่อเวลาผ่านมาหลายเดือน ในสังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ไม่เสร็จสิ้น ได้แก่การเรียกร้องโดยภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำในบทความนี้ว่าจำเป็นต้องมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อยังไม่เป็นเช่นนั้น มวลชนผู้เห็นว่าประเทศไทยของเราสามารถมีระบบการบริหารประเทศที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีได้กว่านี้จึงออกมาร่วมกันต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น

การต่อสู้ภายใต้ระบบที่ยังไม่เป็นธรรมนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบของรัฐไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งล้วนมีอำนาจและทรัพยากรอย่างล้นเหลือ ย่อมไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะแบ่งสรรผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับให้กระจายกลายเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั้งประเทศ เราจึงได้เห็นการคุกคามในรูปแบบต่างๆที่รัฐกระทำกับประชาชน ทั้งด้วยกระบวนการทางกฎหมายและด้วยวิธีการอื่นๆ สิ่งนี้เป็นความอยุติธรรมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเพื่อประชาชนทั้งชาติได้ และมีแต่จะยิ่งกระตุ้นให้มวลชนผู้รักประเทศไทยต้องเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดระบบการบริหารประเทศที่ยึดโยงกับประชาชนไทยโดยรวม ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ ด้วยการหล่อหลอมทางอุดมการณ์ความคิดโดยรัฐไทยที่ไม่ได้เน้นปลูกฝังให้คนไทยมีความตระหนักรู้และความคาดหวังต่อการบริหารประเทศเพื่อประชาชน และทำให้ความหมายของ ‘ชาติ’ ไม่ได้ยึดโยงกับสวัสดิภาพ สุขภาวะ และความมั่นคงของประชาชน โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องรับสารทางเดียวโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันที่ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประโยชน์ของประชาชนในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นการสั่นคลอน ‘ความมั่นคงของชาติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแน่ชัด จับต้องไม่ได้ และถูกทำให้ไม่ยึดโยงกับประชาชนด้วยการหล่อหลอมที่ว่านี้ ดังนั้นผู้เขียนเชื่อว่านอกจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการบริหารประเทศแล้ว การพยายามสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนด้วยกันเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเพื่อทำให้ผู้ที่ยังไม่เข้าใจได้มองเห็นว่าการเรียกร้องครั้งนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนไทยและลูกหลานสืบไปอย่างไรบ้าง

เพราะผู้ที่ตื่นรู้แล้วย่อมไม่มีวันกลับไปมืดบอดอีกได้ เราจะทำเช่นไร ให้การตื่นรู้เป็นเหมือนไฟที่สามารถลามออกไปได้ไม่หยุด เป็นไฟที่ดับไม่ได้ ส่องสว่าง และแผดเผาเพียงความอยุติธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนไทยร่วมมือกันให้ได้มากที่สุด

 

 

รายการอ้างอิง

 

ภาษาอังกฤษ

Credit Suisse, 2019. Global Wealth Databook 2019. Retrieved 29 June 2020, from https://www.credit-suisse.com/media/assets/corporate/docs/about-us/research/publications/global-wealth-databook-2019.pdf.

 

ภาษาไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2561. รายงานการติดตามความก้าวหน้า การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12. เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2563 จาก https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?nid=7966.

 

ข้อมูลผู้เขียน

ดอม ขุนพินิจ จบการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ ขณะนี้กำลังศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง มีความสนใจด้านการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนและมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความยุติธรรม ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนและนักวิจัยอิสระโดยอยู่ระหว่างการศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนทักษะในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศไทยด้วยความมุ่งหวังให้คนไทยได้มีชีวิตที่มีคุณภาพและความมั่นคงดังที่ควรจะเป็น

 

ข้อมูลติดต่อ

Email: dom.khunpinit@gmail.com

 

 

 

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *