รับขวัญ ธรรมบุษดี : คุณเหลือหัวใจกี่ดวง? “The Capital” : ต้นทุน รัฐสวัสดิการ และ ความสุข
Workshop เรื่อง The Capital นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหัวข้อ “ความสุขกับรัฐสวัสดิการ” ได้จัดขึ้นและทดลองเล่นครั้งแรกในวิชา เศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการ หลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันตั้งคำถามว่า รัฐสวัสดิการสัมพันธ์กับความสุขและทางเลือกในชีวิตของเราอย่างไร
Workshop นี้เป็นการผนวกแนวคิดทางสังคมศาสตร์เข้ากับกระบวนการการละคร โดยใช้แนวคิด “ต้นทุนมนุษย์” (Human Capital) ที่พัฒนามาจากแนวคิดเรื่อง Biopolitics ของ Michel Foucault นักคิดชาวฝรั่งเศสที่มองว่าทุนนิยมได้ผลักให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นต้นทุนที่ต้องลงทุนในตัวเองเพื่อใช้จ่ายในการไต่ลำดับชั้นในบันไดทุนนิยมเพื่อให้มีชีวิตที่ดี[1] ต่อมา Wendy Brown นักทฤษฎีชาวอเมริกันได้เสนอเพิ่มเติมว่าการลงทุนนี้ไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกในการเป็นผู้ชนะหรือไต่ขั้นในระบบเท่านั้น แต่เป็นข้อบังคับและข้อกำหนดที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณชอบหรือไม่ก็ตามชีวิตคุณเปรียบเหมือน ”กิจการ” ที่ต้องลงทุนในตัวเองตั้งแต่เกิดจนตายเพื่อเอาชีวิตรอดในภาวะที่รัฐและทุนจับมือกันในการหากำไรกับชีวิตคน[2] ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ตั้งท้องก็ต้องเลือกจ่ายเงินให้โรงพยาบาลที่แพงเพื่อความปลอดภัยของลูก ถ้าคุณมีเงินมากพอลูกคุณก็จะได้เรียนโรงเรียนที่ดี เป็นใบเบิกทางให้กับการงานที่ดีในอนาคต ลงทุนกับบริษัทประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงทางสุขภาพ แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็ได้แค่แบกรับความเสี่ยงนั้นไปจนกว่าจะตาย
ส่วนแนวคิดด้านการละครนั้นถูกนำมาใช้ในการสร้างกระบวนการเล่น และ Story ให้กับเส้นทางชีวิตของตัวละคร โดยย่อยภาพให้เห็นว่าชีวิตของคนหนึ่งมีภาระที่ต้องแบกและมีสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆเมื่อคุณโตขึ้นจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ มีความรัก มีครอบครัว มีงาน ต้นทุนที่ต้องใช้นั้นก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับโครงสร้างบทละคร 3 องก์ ที่ตัวละครจะต้องเจออุปสรรคที่หนักขึ้นเรื่อยๆจนไปสู่จุดวิกฤติ (Crisis) ที่ตัวละครต้องเลือก และนำไปสู่จุดสุงสุดของเรื่อง (Climax) เพื่อคลี่คลายปมปัญหาและนำไปสู่ตอนจบ เพียงแต่ว่าการออกแบบเกมนี้ไม่ได้มีจุดจบที่คลี่คลาย แต่จบที่จุดวิกฤติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าชีวิตจริงของมนุษย์ไม่มีจุดคลี่คลายที่จบสวยงาม มันคือความไม่แน่นอน และในความไม่แน่นอนนี้สิ่งที่จะเป็นฟูกรองรับชีวิตเราได้ก็คือรัฐสวัสดิการ
สร้างตัวละคร
เมื่อเริ่มการ Workshop ผู้เข้าร่วมจะแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน และแต่ละคนจะได้รับแผ่นวงกลมให้ออกแบบตัวละครหรือ Token ที่จะใช้ในการดำเนินเรื่อง ซึ่งอายุเริ่มต้นของตัวละครคือ 17 ปี ตัวนี้จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเอง ผู้เล่นตั้งชื่อให้ตัวละครและเขียนความต้องการสูงสุดในชีวิตของตัวละคร ว่าเค้าอยากมีชีวิตแบบไหน มีอาชีพในฝันคืออะไร โดยความต้องการนี้จะเป็นอะไรก็ได้ เปิดกว้าง เหมือนกับเป็นสิทธิ์ของมนุษย์คนหนึ่งที่จะเลือกชีวิตของตนเอง
ถุงทุน
จากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับแจก “ถุงทุน” หรือ Capital Bag ในถุงจะประกอบด้วย การ์ดทุน 6 อย่าง คือ สุขภาพ เสรีภาพ การศึกษา เวลา เงินตรา และ หัวใจ โดยทุนเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับสิ่งแลกเปลี่ยนที่ต้องใช้ในแต่ละสถานการณ์ชีวิต และผู้เล่นสามารถกู้เงินได้หากเงินไม่พอแต่ต้องแลกกับใบแจ้งหนี้สีแดงที่ต้องเอาเงินมาไถ่ถอนคืน โดยการออกแบบถุงทุนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “Liviability” ของ Ruut Veenhoven นักสังคมศาสตร์ชาวเนเธอแลนด์ ที่พูดเรื่องความสุขกับคุณภาพชีวิตของประชาชน [3]
จุดสำคัญของ Workshop นั้นคือผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับถุงที่มีจำนวนทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งการออกแบบจำนวนทุนในถุงนี้ได้วางอย่างคร่าวๆให้สอดคล้องกับสวัสดิการของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ในถุง A ผู้เล่นจะได้การ์ด เสรีภาพ การรักษาพยาบาล การศึกษา และ เวลา เป็นจำนวนมาก แม้จะได้การ์ดเงินไม่เยอะ แต่การ์ดเหล่านี้จะพาผู้เล่นผ่านสถานการณ์ต่างๆในชีวิตได้แบบไร้กังวลเปรียบกับได้เกิดในประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างเช่นประเทศในแถบแสกนดิเนเวียร์
ในขณะที่ถุง B เป็นภาพของชนชั้นกลางในสังคมทุนนิยมสุดโต่งที่ไม่ได้มีสวัสดิการรองรับชีวิต โดยผู้เล่นจะได้การ์ดเงินตราจำนวนมาก ซึ่งในตอนต้นเค้าจะสามารถผ่านสถานการณ์พื้นฐานไปได้ด้วยการจ่ายเงิน แต่เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์อย่างการรักษาพยาบาลติดๆกันและไม่มีการ์ดทุนสุขภาพมากพอทำให้ต้องแลกกับเงินจำนวนมาก และก็พบว่าหลายครั้งที่การ์ดเงินตราไม่สามารถแลกเวลาหรือหัวใจมาได้ ซึ่งมีภาพจำลองคล้ายกับสังคมในสหรัฐอเมริกา
ถุง C เป็นถุงที่สะท้อนภาพชนชั้นกลางไทยได้พอสมควร พวกเค้ามีการ์ดการศึกษาพอประมาณที่จะทำให้เรียนแบบพื้นฐานได้ถ้าจ่ายเงินเพิ่ม มีการ์ดรักษาพยาบาลพอให้รอด แต่มีการ์ดเสรีภาพและเวลาน้อยนิด ซึ่งเมื่อสถานการณ์ผ่านไปจะเริ่มเห็นว่าตัวละครกลุ่มนี้จะติดกับอยู่กับการทำงานหาเงินมาเพื่อจ่ายๆๆอย่างไม่หยุด บางครั้งอาจเป็นหนี้ แม้จะมีโอกาสปลดหนี้แต่อีกไม่กี่รอบก็กลับมาเป็นหนี้อีก
สุดท้าย ถุง D คือตัวละครที่อาจเปรียบกับกลุ่มชนชั้นล่างในประเทศไทยที่แทบไม่มีต้นทุนในชีวิตอะไรเลย ทุนการศึกษาเป็นศูนย์ การ์ดเสรีภาพมีแค่ใบเดียวเท่านั้น เงินก็มีเพียงน้อยนิด ซึ่งเมื่อดำเนินเกมไปตัวละครกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ต้องเป็นหนี้เพื่อให้เล่นด่านต่อไปได้และติดอยู่กับกับดักความจนที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ตาก็แทบไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย
แม้ตัวละคร 4 ตัวจะได้การ์ดต้นทุนแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน มีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้เท่ากันเมื่อเริ่มเกมคือการ์ด “หัวใจ” หัวใจในที่นี้แสดงความเป็นมนุษย์และความรัก ที่ไม่ใช่แค่ความรักแบบโรแมนติก แต่ยังหมายถึงความรักและเคารพในตัวเองและผู้อื่น ศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิตของตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ โจทย์ที่ผู้เล่นได้ก่อนเริ่มเกมคือ “ต้องพยามรักษาหัวใจของเขาไว้ให้ได้มากที่สุด” นั่นหมายความว่าผู้เล่นทุกคนกำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่วางตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เกิดมาอยู่ในสังคมที่ได้ต้นทุนชีวิตแตกต่างกัน แต่กำลังจะต้องเผชิญเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งจะฉายภาพให้เห็นว่าในภาวะที่ชีวิตเปราะบางและไร้รัฐสวัสดิการนั้นทำให้พวกเขาต้องจำใจแลกหัวใจไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากใครเคยเล่นบอร์ดเกมยอดฮิตอย่างเกมเศรษฐี (Monopoly) คงจะมองว่าเกมนี้มันช่างไม่แฟร์เลย เพราะอย่างน้อยในเกมเศรษฐีทุกคนก็ได้เงินตั้งต้นเท่ากันแล้วให้ลูกเต๋าและดวงชะตานำพา ผ่านจุดเริ่มต้นก็ได้เงินเดือนเท่ากัน ใช่แล้ว เวิร์คชอปนี้ไม่แฟร์จริงๆเพราะเรากำลังชี้ให้เห็นว่าเมื่อคุณต้องไปอยู่ในบทบาทของคนที่มีต้นทุนต่างกันจริงๆ คุณจะเข้าใจว่าคำพูดประเภท “ทุกคนมีชีวิตที่ได้ถ้าขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน” เป็นแค่คำสวยหรูของชนชั้นสูงที่สั่งสอนคนข้างล่าง เพราะความเป็นจริงๆแล้วชีวิตพวกเค้าถูกออกแบบมาให้ไม่แฟร์ตั้งแต่เริ่ม
แถบวัดความสุข ก่อนเริ่มเกม แต่ละกลุ่มจะได้รับแผนภูมิความสุขที่แบ่งสเกลไว้ โดยตัวละครแต่ละตัวจะเริ่มที่จุดกึ่งกลาง กฏมีง่ายๆคือ ในเกมนี้ตัวละครจะต้องเดินทางผ่าน 10 ฉาก 10 สถานการณ์ ที่เป็นความต้องการของตัวละคร และต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เมื่อจบสถานการณ์นั้นผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเลื่อนตัวละครกระดาษของตัวเองบนแถบความสุข ว่าความสุขนั้นมากขึ้นหรือน้อยลง โดยคิดในฐานะตัวละครตัวนั้นๆและอิงจากความต้องการของตัวละครที่เขียนไว้ด้านหลัง เช่นถ้าอาชีพในฝันที่เขียนไว้คืออยากเป็นนักบินอวกาศ แต่คุณไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือเลือกงานที่รักได้ นั่นแสดงว่าความสุขของคุณก็อาจจะน้อยลง
เริ่มเล่นเกมก่อนเริ่มเกม แต่ละกลุ่มจะได้รับแผนภูมิความสุขที่แบ่งสเกลไว้ โดยตัวละครแต่ละตัวจะเริ่มที่จุดกึ่งกลาง กฏมีง่ายๆคือ ในเกมนี้ตัวละครจะต้องเดินทางผ่าน 10 ฉาก 10 สถานการณ์ ที่เป็นความต้องการของตัวละคร และต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เมื่อจบสถานการณ์นั้นผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเลื่อนตัวละครกระดาษของตัวเองบนแถบความสุข ว่าความสุขนั้นมากขึ้นหรือน้อยลง โดยคิดในฐานะตัวละครตัวนั้นๆและอิงจากความต้องการของตัวละครที่เขียนไว้ด้านหลัง เช่นถ้าอาชีพในฝันที่เขียนไว้คืออยากเป็นนักบินอวกาศ แต่คุณไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือเลือกงานที่รักได้ นั่นแสดงว่าความสุขของคุณก็อาจจะน้อยลง
เมื่อเริ่มเล่นเกม สถานการณ์จะเริ่มจากเรื่องพื้นฐานอย่างการศึกษา สถานการณ์แรกคือการเข้ารับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหากคุณไม่ได้รับการศึกษา คุณต้องทำงานทันทีโดยรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่หากได้รับการศึกษาในฉากต่อไปคุณจะมีตัวเลือกในการทำงานที่รักและได้รายได้มากขึ้น
เรื่องราวจะดำเนินไปและมีสถานการณ์ที่ทำให้ผู้เล่นต้องตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขของทุนที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ถ้าตัวละครของคุณอยากลาพักร้อนไปเที่ยวซักอาทิตย์ แต่ต้องแลกกับเงินและเวลาจำนวนมาก คุณจะไปไหม? เพื่อให้ได้หัวใจกับสุขภาพนิดหน่อยเป็นรางวัล แต่ถ้าไม่ไปคุณไม่เสียทั้งเงินและเวลา แต่ต้องเสียสุขภาพและหัวใจ นี่คือฉากที่ตัวละครต้องตัดสินใจ และแน่นอนว่าการไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการก็อาจส่งผลต่อระดับความสุขของตัวละครด้วย
หลังสถานการณ์ที่ 5 ผ่านมาครึ่งทางเป็นฉากที่ผู้เล่นต้องเสียภาษี ถึงตรงนี้จะเริ่มชัดขึ้นแล้วว่าตัวละครแต่ละตัวอยู่ในโครงสร้างสังคมที่แตกต่างกัน ในขณะที่ตัวละคร A เสียภาษีมากที่สุด แต่เขาได้คืนกลับมาทั้งต้นทุน เวลา สุขภาพ และเสรีภาพ ในขณะที่ตัวละครที่เหลือเสียภาษีน้อยและได้กลับมาแค่การ์ดสุขภาพใบเดียว จุดนี้จึงเป็นจุดที่เริ่มสะท้อนให้ผู้เล่นได้เห็นว่าพวกเค้าไม่จำเป็นต้องมีการ์ดเงินตรามากมายแต่สิ่งสำคัญคือหลักประกันชีวิตที่มั่นคงและปลอดภัย
หลังจากจุดนี้ ในทางการละครจะเป็นจุดที่นำไปสู่จุดวิกฤติที่อุปสรรคเข้มข้นเรื่อยๆ นั่นคือเราได้จำลองภาพให้เห็นว่าทุกเหตุการณ์ต่อจากนี้ตัวละครจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ใช้ต้นทุนไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยกระทันหัน อยากเปลี่ยนงาน และกำลังจะมีลูกแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งทั้งหมดต้องแลกด้วยต้นทุนหลายอย่าง ตัวละคร B C D เริ่มก่อหนี้เพื่อเอาชีวิตรอด หรือยอมเสียหัวใจเพื่อแลกกับเงิน
จุดสำคัญหรือจุดวิกฤตสุดท้ายของเกมคือฉากสุดท้ายนั่นคือตัวละครโดนเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม อยากต่อสู้แต่บริษัทเสนอเงินปิดปากให้คุณ แต่คุณต้องแลกหัวใจไปสองดวงและจะได้เงินกลับมา หรือคุณจะเลือกที่จะใช้การ์ดเสรีภาพที่มีร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการพื้นฐานอย่างละใบ เมื่อมาถึงจุดนี้เกมได้ออกแบบไว้แล้วว่าตัวละครทุกตัวจะเหลือต้นทุนอย่างน้อยที่จะเลือกแบบไหนก็ได้ และผลของเกมก็น่าสนใจมากเพราะผู้เล่นบางคนในกลุ่ม B และ C เลือกที่จะรับเงินเพราะมองว่าสถานการณ์ชีวิตจริงไม่จบแค่นี้และเขาเลือกเงินที่จับต้องได้เพราะต้องกินต้องใช้ ในขณะที่ผู้เล่นที่ได้ถุงทุน A ที่มีสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างดีมาตั้งแต่เริ่มกลับเลือกที่จะร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อรักษาสวัสดิการไว้ อาจเป็นเพราะพวกเค้าได้เรียนรู้มาตลอดการเดินทางว่าการมีทุนทางสวัสดิการที่มั่นคงนั้นทำให้ชีวิตพวกเค้าปลอดภัยกว่าการมีเงินมากมาย ภาพสะท้อนดังกล่าวจึงอาจนำมาชวนคิดได้เมื่อเทียบกับสังคมไทยในปัจจุบันที่ทำไมชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะไม่เปิดใจรับแนวคิดรัฐสวัสดิการ เพราะพวกเขาคิดว่าการต่อสู้แบบปัจเจกและทำงานหนักเพื่อได้เงินมาดูแลรับผิดชอบตัวเองนั้นอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าการรอความช่วยเหลือจากรัฐ
แน่นอนว่าการตัดสินใจของผู้เล่นใน Workshop นี้ไม่มีคำตอบตายตัว ไม่มีถูกผิด สิ่งที่สำคัญมากพอๆกับระหว่างการเดินทางไปฉากต่างๆคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลังจากฉากสุดท้าย เราได้เห็นว่าจุดความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันแม้จะได้รับต้นทุนถุงเดียวกันก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการมานั่งวัดว่าใครสุขมากสุขน้อยก็คือต้นทุนในการใช้ชีวิตที่ต่างกันตั้งแต่ต้น ทำให้ทางเลือกในชีวิตคนแตกต่างกันอย่างมาก อีกมุมที่น่าคิดเมื่อแลกเปลี่ยนกันหลังเกมจบก็คือ ผู้เล่นที่ได้ถุงทุน B สะท้อนว่าแม้ชีวิตจะไม่ราบรื่นนัก แต่ก็รู้สึกดีมากขึ้นเมื่อเห็นตัวละคร D อยู่ต่ำกว่า และไม่ได้โอกาสเท่ากับเขา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนอย่างมากในการรักษาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมไทย เมื่อใดที่มีปัญหาเรามักถูกสอนให้มองคนที่ลำบากกว่าเราเสมอเพื่อให้เรามองข้ามความไม่เป็นธรรมของสังคมไป อาจารย์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เจ้าของวิชาผู้เป็นผู้ชมระหว่างกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็นว่า
“วันนั้นผมจำได้ว่านักศึกษาสะท้อนอะไรหลายอย่างแต่สิ่งที่เรียนรู้คือ
เราไม่ได้ยากจนเพราะตัวเราเอง ไม่ใช่เพราะเราเลือกไม่ดี หรือตัดสินใจพลาด
แต่มันถูกกำหนดมาที่เราต้องพยายามอย่างมากเพื่อชีวิตปกติ ในสวัสดิการที่มีลำดับชั้น”
หากกลับมาที่จุดมุ่งหมายของ Workshop เรื่องรัฐสวัสดิการกับความสุข เกมนี้ต้องการเสนอว่า ความสุขเป็นเรื่องปัจเจกตราบใดที่คุณได้รับสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตในสังคมที่เท่าเทียม มีหัวใจ มีเสรีภาพ สิ่งที่ผิดเพี้ยนคือในสังคมไทยมักเริ่มจากการสะกดจิตให้คนมีความสุขก่อนเพื่อเป็นเครื่องมือในการอยู่ในระบบที่ไม่แฟร์ได้อย่างปกติ ทั้งๆที่จุดเริ่มต้นของเราไม่เท่ากัน ในกลุ่มเดียวกันคนนึงแค่เริ่มมาก็ติดลบแล้ว ในขณะที่อีกคนเกิดในสังคมอีกแบบกลับมีการ์ดเสรีภาพไม่จำกัด ดังนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมจึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องร่วมกันขับเคลื่อน
ศิลปะและการละครเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้อยู่ใกล้ความเป็นมนุษย์ และเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตั้งคำถามต่อความเท่าเทียมและสิทธิของมนุษย์ในสังคม มันจึงทำเรื่องที่ดูซับซ้อนให้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจง่าย Workshop นี้เป็น Open Source ค่ะ ไม่มีลิขสิทธิ์ ใช้เพื่อผลักดันแนวความคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าหากใครสนใจร่วมพัฒนาต่อสามารถติดต่อได้ค่ะ
เขียนโดย
รับขวัญ ธรรมบุษดี – อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ติดต่อเพื่อรับไฟล์เพิ่มเติมสำหรับการทำเวิร์คชอปได้ที่ rubkwan@gmail.com
[1] Foucault, M. (2008 [1979]). The birth of biopolitics: Lectures at the collège de France, 1978-79, ed. M. Senellart. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
[2] Brown, W. (2015). Undoing the demos: Neoliberalism’s stealth revolution. New York: Zone Books.
[3] Veenhoven, R. (1999). Quality-of-life in individualistic society: A comparison of 43 nations in the early 1990’s. Social Indicators Research, 48(2), 157-186.