ลำดับเหตุการณอภิวัฒน์สยาม 2475
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศนี้เป็นของราษฎร
เรียบเรียงโดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
ภาพประกอบโดย ชาลินี ทองยศ
๒๔๖๘-๒๔๖๙ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายที่ได้รับทุนศึกษาปริญญาเอก จากกระทรวงยุติธรรม กับ นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนที่ลาออกจากราชการไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้พบปะสนทนากันหลายครั้ง ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม แล้ววางวิธีการชักชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก
กุมภาพันธ์ ๒๔๗๐ คณะผู้ก่อการหรือคณะราษฎรประชุมเป็นทางการครั้งแรก ที่หอพัก Rue du Sommerard กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ นายร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส นายร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี (หลวงทัศไนยนิยมศึก) นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิสเซอร์แลนด์ นายจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ผู้ช่วยสถานทูตสยาม กรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ นายประยูร ภมรมนตรี และนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)การประชุมเป็นเวลา ๕ วัน คณะราษฎรตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นกษัตริย์ใต้กฎหมาย และดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุหลัก ๖ ประการ คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา คณะราษฎรได้ตกลงให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า และให้แยกย้ายกันหาสมาชิกเพิ่มเติม
๒๔๗๐-๒๔๗๒ คณะราษฎรมีสมาชิกผู้ก่อการเพิ่มขึ้น ได้แก่ นายเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) นักศึกษาวิชาทหารเรือในเดนมาร์ก นายควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์) นายทวี บุญยเกตุ ดอกเตอร์ประจวบ บุญนาค หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวนนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เข้าร่วมขณะเดินทางไปดูงานในฝรั่งเศส
๒๔๗๒-๒๔๗๓ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) รองจเรกองทัพบก นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมศิริ) ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้สนทนากันถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของเจ้านายและเสนาชั้นผู้ใหญ่ โดยที่ไม่ทราบว่า คณะราษฎรสายพลเรือน สายทหารเรือ และสายทหารบกชั้นยศน้อยได้คิดก่อการในเรื่องนี้อยู่
๒๔๗๔-๒๔๗๕ นายประยูร ภมรมนตรี ได้เชื้อเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนา ให้เข้าร่วมในการก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้แจ้งให้ทราบว่า ยังขาดเพียงกำลังนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งพระยาพหลฯ ได้ตอบตกลง จากนั้น พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ก็ได้ร่วมกันเชื้อเชิญสมาชิกผู้ก่อการสายทหารบกอย่างจริงจัง และได้มีผู้ตอบรับมากขึ้น อาทิ นายพันตรี หลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ (เพียร พิริยะโยธิน) นายร้อยเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) นายร้อยเอก หลวงสวัสดิณรงค์ (สวัสด์ ดาระสวัสดิ์) นายร้อยเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนพินทุ) ซึ่งเป็นอาจารย์และครูวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก ฯลฯ กระทั่งคณะราษฎรมีสมาชิกรวม ๑๐๒ คน แบ่งออกเป็น ๓ สาย ได้แก่ ๑. สายพลเรือน ๕๐ คน มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ๒. สายทหารเรือ ๑๘ คน มีนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า ๓. สายทหารบก ๓๔ คน มีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า
มีนาคม-มิถุนายน ๒๔๗๕ แกนนำสำคัญคณะราษฎรได้ใช้บ้านพระยาทรงสุรเดช ถนนประดิพัทธ์ และบ้านนายประยูร ภมรมนตรี ถนนเศรษฐศิริ เป็นที่ประชุมวางแผนก่อการ จำนวน ๗ ครั้ง การประชุมครั้งที่ ๑ คณะผู้ก่อการมีการพิจารณาใน ๔ เรื่อง ได้แก่ การเสนอบัญชีรายนามผู้ก่อการ วันก่อการจะไม่ลงมือในวันจัดงานฉลองพระมหานครและเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า คณะก่อการได้ตกลงให้พระยาพหลฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด (๔๕ ปี) เป็นหัวหน้า และมอบให้พระยาทรงฯ ไปวางแผนการก่อการเพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป การประชุมครั้งที่ ๒ พระยาทรงสุรเดช เสนอแผนให้ใช้กำลังทหารเข้ายึดพระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในเวลากลางคืน แล้วบังคับให้ลงปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่แผนนี้มีผู้คัดค้าน เพราะเกรงว่าจะเกิดการนองเลือด และกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์จนเกินควร การประชุมครั้งที่ ๓ พระยาทรงสุรเดช เสนอแผนก่อการในวันอาทิตย์ โดยให้คณะราษฎรจัดชุมนุมทหารที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วให้หัวหน้าคณะราษฎรเข้าเฝ้าที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่แผนการนี้ถูกระงับไว้อีกครั้ง
มิถุนายน ๒๔๗๕ นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ได้ทำหมายจับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ดร.ตั้ว พลานุกรม และ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ไปกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ลงพระนาม แต่กรมพระนครสวรรค์ฯ ทักขึ้นว่า “บุคคลเหล่านี้เป็นพวกเด็ก ๆ ไม่มีความหมาย โดยเฉพาะ ตายูร (ประยูร ภมรมนตรี) ลูกตาแย้ม ก็เคยทำขวัญตั้งชื่อมาแต่มาตั้งแต่เกิด เมื่อเป็นนายทหารมหาดเล็กก็เคยรับใช้อยู่เสมอ และเป็นเพียงข้าราชการกรมไปรษณีย์ ส่วนนายตั้ว ก็เป็นน้องคุณหญิงพระยามานวราชเสวี อธิบดีกรมอัยการ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ดูเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความหมายประการใดได้”
อาทิตย์ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ การประชุมครั้งที่ ๔ พระยาทรงสุรเดช เสนอแผนก่อการในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยมีแผนให้พิจารณาจำนวน ๓ แผน คือ แผนที่ ๑ ให้นัดประชุมทหารที่กรมเสนาธิการหรือกรมยุทธศึกษาหรือศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ใดไม่เห็นด้วยให้เข้าควบคุมตัว ในระหว่างการประชุมให้แยกย้ายไปคุมวังเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นให้นำบุคคลสำคัญมากักตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ แผนที่ ๒ ให้ส่งหน่วยไปคุมวังเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้ตัดการสื่อสารโทรเลขโทรศัพท์ และให้รวบรวมกำลังทหารไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยออกคำสั่งลวง แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง แผนที่ ๓ ให้ส่งหน่วยไปวังบางขุนพรหมและจับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประธานอภิรัฐมนตรีสภา มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่นตามแผนที่ ๒ คณะผู้ก่อการเห็นชอบแผนการที่ ๓ และกำหนดวันก่อการในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ทว่า ในภายหลังสืบทราบว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต มักจะทรงประพาสในเรือที่ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันเสาร์ถึงวันจันทร์ วันก่อการจึงถูกเลื่อนเป็นวันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน อาทิตย์ ๑๙ มิถุนายน การประชุมครั้งที่ ๕ คณะผู้ก่อการมีการหารือถึงวันก่อการอีกครั้ง แต่ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัด
จันทร์ ๒๐ มิถุนายน การประชุมครั้งที่ ๖ คณะผู้ก่อการตกลงให้เลื่อนวันก่อการเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน เนื่องจากได้รับรายงานว่าเรือยามชายฝั่งยังไม่กลับ จะทำให้ขาดกำลังจากคณะทหารเรือ และได้วางแผนดำเนินการต่างๆ ในวันก่อการ พุธที่ ๒๒ มิถุนายน การประชุมครั้งที่ ๗ คณะผู้ก่อการหลายคนแจ้งว่ายังไม่พร้อม จึงมีมติให้เลื่อนวันก่อการเป็นครั้งที่ ๓ เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน
พฤหัสที่ ๒๓ มิถุนายน พระยาทรงสุรเดช ในฐานะอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิชาทหาร ได้ไปพบพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก (จปร.) เพื่อให้นำนักเรียนนายร้อยพร้อมอาวุธปืนไปฝึกยุทธวิธีต่อสู้รถถัง จากนั้น ได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบ ๒ นาย และผู้บังคับการกองพันทหารช่าง เพื่อให้นำทหารไปฝึกที่ลานพระบรมรูป ในเวลา ๐๖.๐๐ น.
วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. คณะผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน อาทิ นายประยูร ภมรมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ดร.ประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ นายประเสริฐ ศรีจรูญ นายบรรจง ศรีจรูญ ยึดสถานีโทรศัพท์กลางและกรมไปรษณีย์ที่วัดเลียบ เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น.คณะผู้ก่อการคณะราษฎรสายทหารบกเดินทางมาถึงบริเวณริมทางรถไฟ ถนนประดิพัทธ์ ตามนัดหมาย แล้วพระยาทรงเสนอแผนยึดรถถัง รถเกราะ กระสุน และกำลังทหาร ที่กรมทหารม้า ๑ รักษาพระองค์ กรมทหารที่มีอาวุธทันสมัยมากที่สุดในขณะนั้น เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น. คณะผู้ก่อการได้กล่าวด้วยเสียงดังเมื่อมาถึงกองรักษาการณ์ว่า “เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ ไปปลุกทหารให้ออกมาประชุมเดี๋ยวนี้” ผู้บังคับการที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยก็หลงเชื่อ เป่าแตรแจ้งสัญญาณสำคัญ ในช่วงนี้ พ.อ.พระยาพหลฯ กับ พ.ต.หลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ ได้เข้าไปตัดโซ่กุญแจคลังกระสุนแล้วลำเลียงกระสุนออกมา ส่วน พ.ท.พระประศาสน์ฯ เข้าไปควบคุมตัวพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ มาหน้าที่ว่าการ ร.อ.หลวงทัศไนยนิยมศึก ตรงไปยังโรงเก็บรถ นำรถถังรถเกราะรถเดนลอยด์ออกมา พ.ต.หลวงพิบูลสงครามไปคุมเชิงที่บ้านผู้บังคับการกรมทหารม้า คอยขัดขวางไม่ให้ออกมาสั่งการนายทหาร ร.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ร.อ.หลวงสวัสดิ์รณรงค์ และ ร.อ.หลวงรณสิทธิชัยไปยังโรงทหารเร่งให้ทหารแต่งเครื่องแบบ จากนั้นทหารม้าจากกรมทหารม้าเดินแถวไปขึ้นรถที่กรมทหารปืนใหญ่ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ จากนั้นขบวนรถทั้งหมดได้มุ่งไปยังลานพระบรมรูป ทั้งนี้เมื่อขบวนรถผ่านกองพันทหารช่าง พ.อ.พระยาทรงสุรเดชก็ตะโกนเรียกทหารช่างขึ้นรถตามที่ได้นัดหมายไว้
เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. หลวงสินธุสงครามชัย หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือนำทหารเรือ ๔๐๐ นาย พร้อมอาวุธปืนโดยลวงมาว่าให้มาปราบกบฏ นักเรียนนายร้อยและทหารจากกองพันทหารราบที่พระยาทรงสุรเดชนัดหมายไว้เดินทางมาถึงแล้วเช่นกัน ขบวนรถถัง รถหุ้มเกราะ รถกันกระสุน ปืนกลเบา และรถบรรทุกทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง จำนวน ๑๕ คัน เดินทางมาถึงที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเนย์ จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาได้นำกำลังทหารเปิดประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม ยึดเป็นกองบัญชาการ พระยาทรงสุรเดชสั่งการให้ทหารเข้าแถวคละกัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งคนใดสั่งการได้โดยสะดวก ส่วนหลวงสินธุสงครามชัยสั่งการให้กำลังทหารเรือขยายแนวปิดถนนราชดำเนิน
เวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น.พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธนำนักเรียนนายร้อยประมาณ ๕๐ นาย พร้อมอาวุธปืน รถเกราะ รถถัง รถปืนใหญ่ ไปที่วังบางขุนพรหม เพื่อควบคุมตัวสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประธานอภิรัฐมนตรีสภาในฐานะผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน พระประศาสน์ฯ ได้คุมตัวหัวหน้าสถานีตำรวจบางขุนพรหมให้นั่งรถไปด้วยกัน เมื่อผ่านประตูวังและตรงไปยังหน้าตำหนักก็ได้มีการยิงสกัด พลปืนประจำรถเกราะจึงยิงปืนขู่ จากนั้นพระประศาสน์ฯลงจากรถเกราะแล้วสั่งให้นักเรียนนายร้อยขยายแถวเพื่อรอรับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มปะทะกัน จากนั้นได้สั่งให้หัวหน้าสถานีตำรวจบางขุนพรหมเข้าไปทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ โดยให้เวลาในการประกอบกิจต่างๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที เมื่อครบกำหนดไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ พระประศาสน์ฯจึงเคลื่อนกำลังผ่านวังเข้าไปถึงริมน้ำเจ้าพระยาก็ได้เห็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์อยู่กับพระอธิกรณ์ประกาศและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ประมาณ ๑๐๐ นาย พร้อมอาวุธ พระประศาสน์ฯ จึงเดินเข้าไปทูลเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเชิญเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯปฏิเสธ จึงเชิญออกมาเจรจาที่หน้าตำหนัก ในระหว่างนั้นพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจชักปืนจะยิงพระประศาสน์ฯ แต่ ร.อ.หลวงนิเทศกลกิจ น.ร. (กลาง โรจนเสภา) เตะมือไว้ทัน พระประศาสน์ฯจึงสั่งให้ทหารเตรียมปลดอาวุธฝ่ายตรงข้าม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ จึงยอมไปด้วยโดยขอเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อน แต่พระประศาสน์ฯปฏิเสธและทูลเชิญขึ้นรถบรรทุกทหารทันที
เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ขบวนรถมุ่งตรงไปยังบ้านนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก แถบวัดพระเชตุพน เมื่อได้แล่นผ่านสนามหลวง พระประศาสน์ฯ พบหลวงวีระโยธา ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ กำลังนำทหารออกมาฝึก จึงให้นำทหารไปปราบจลาจลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจึงนำกำลังทหารไปควบคุมตัวพระยาสีหราชเดโชชัย ที่บ้านพัก ในขณะที่กำลังออกจากห้องน้ำ
เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. ขบวนรถควบคุมตัวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ และพระยาสีหราชเดโชชัย มาถึงกองบัญชาการคณะราษฎร ซึ่งมีทหารพร้อมปืนกลมือยืนประจำช่องหน้าต่างโดยรอบ มีการตั้งบังเกอร์ล้อมรอบ ทหารบก ทหารเรือติดดาบปลายปืนคุ้มกันบนถนนทุกสายที่มุ่งหน้าเข้ากองบัญชาการ รถเกราะและรถถังจอดปิดเส้นทางถนนศรีอยุธยา ด้านวัดเบญจมบพิตร และด้านวังปารุสกวัน โดยมีกองกำลังทหารบก ทหารเรือ ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ด้านนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ได้ลอยเรือในคลองบางลำพู แจกแถลงการณ์คณะราษฎร
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. คณะราษฎรเข้าควบคุมพระบรมมหาราชวัง วังสวนสุนันทา กรมช่างแสง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สถานีไฟหัวลำโพง กรมรถไฟหลวง กรมอากาศยาน คณะราษฎรควบคุมตัวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ อภิรัฐมนตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร นายพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฎ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ฯลฯ ไว้ที่กองบัญชาการ การก่อการปฏิวัติสยามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงโดยไม่มีผู้เสียชีวิตเว้นแต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ พลตรีพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ ถูกยิงเข้าที่ท้องโดยนายร้อยโท ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีธนากร) กรมจเรทหารปืนใหญ่ สมาชิกคณะราษฎรในระหว่างการเข้าควบคุมตัวที่บ้านพัก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตออกคำประกาศของผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร “ขอให้ทหารข้าราชการและราษฎรทั้งหลาย จงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเอง โดยไม่จำเป็นเลย” คณะราษฎรออกประกาศให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ประกาศแต่งตั้งพระยาบุเรศผดุงกิจเป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธร และประกาศควบคุมต้นเรื่องหนังสือพิมพ์
เวลา ๑๖.๐๐ น. คณะราษฎรในนามผู้รักษาพระนคร จัดประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลองที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อชี้แจงการก่อการปฏิวัติ การเสนอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยอมรับการเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้กระทรวงต่างประเทศแจ้งสถานทูตต่าง ๆ
เวลาประมาณ ๑๗.๔๕ น. ธงไตรรงค์ถูกชักขึ้นไปแทนธงตราครุฑ บนยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีวิทยุกระจายเสียงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองและปิดการกระจายเสียงในช่วงกลางคืนด้วยเพลงมหาชัยแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี
วันที่ 25 มิถุนายน 2475 เวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) นายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพเรือ สมาชิกคณะราษฎร เดินทางด้วยเรือรบหลวงสุโขทัยถึงพระราชวังไกลกังวล พร้อมด้วยหนังสือกราบบังคมทูลที่ระบุว่า “ได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน”“คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่ง ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น”“ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน ๑ ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยมีการอภิปรายถึงการหนีลงใต้ไปทางหาดใหญ่และมลยู เพื่อใช้เวลาเจรจาต่อรองกับคณะราษฎร หรือไม่ก็ลุกขึ้นสู้ เนื่องจากทหารในหัวเมืองส่วนใหญ่ยังคงน่าจะจงรักภักดีอยู่ หากในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชหัตเลขาตอบคณะราษฎรว่า ยินยอมตามข้อเสนอด้วย “เห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ”
วันที่ 26 มิถุนายน 2475 เวลาประมาณ ๐๐.๓๗ น. รถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษ เดินทางถึงสถานีรถไฟจิตรลดา เวลาประมาณ 11.00 น. คณะราษฎร 6 คน เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่วังสุโขทัย นำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และ ร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ลงพระปรมาภิไธยร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในวันเดียวกัน
วันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯลงพระปรมาภิไธย ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามและได้เติมคำว่า “ชั่วคราว”กำกับไว้
วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคมโดยพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามธรรมนูญตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ชั่วคราว) จำนวน ๗๐ คน และมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินให้กับสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นประธาน สภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา องคมนตรีและอธิบดีศาลอุทธรณ์เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) และเลือกกรรมการราษฎร ๑๔ คน (เทียบเท่ารัฐมนตรี) รวมทั้งแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ๗ คน
วันที่ ๑๐ ธันวาคม๒๔๗๕ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
อ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๔๗๕ การปฏิวัติสยาม. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๓
กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช , ๒๔๙๐
กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพ : โรงพิมพ์เดือนตุลา , ๒๕๔๕
เสทื้อน ศุภโสภณ. ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช โครงการ ๖๐ ปี ประชาธิปไตย, ๒๕๓๕
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐, (บางเรื่องเกี่ยวกับการตั้งคณะราษฎร (นายปรีดี พนมยงค์) หน้า ๓๐-๔๗ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ (พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี) หน้า ๘๐-๙๗ การปฏิวิติ ๒๔ มิย. ๗๕ (บันทึกพระยาทรงสุรเดช) หน้า ๙๘-๑๒๑). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรนรา การพิมพ์, ๒๕๑๖
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บรรณาธิการ, คณะกรรมการ ๖๐ ปี ประชาธิปไตย. ๖๐ ปี ประชาธิปไตยไทย, กรุงเทพ : โรงพิมพ์บริษัทครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๖
สารคดี ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๗๒ มิถุนายน ๒๕๔๒
สำนักงานศูนย์ภาพ ๑๘. บันทึกเชิงประวัติศาสตร์ ๔๓ ปี เมื่อมวลชนเป็นใหญ่ในสยาม, กรุงเทพ : โรงพิมพ์ประชาชน ๒๕๑๘