รัฐสวัสดิการกับคนทำงาน99%
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ณ หอศิลป์ กทม.
[We FairXWorker’s Fest]
บทนำ
ขอแสดงความยินดีกับการก่อตั้งสหภาพคนทำงานในวันนี้ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญทางประประวัติศาสตร์ ในการสร้างสหภาพแรงงานแนวใหม่ ที่มีภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน ประชาธิปไตยทางการเมือง และรัฐสวัสดิการ

เราคือคน 99%
คน 99% ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ทำงานอะไร เราคือคนทำงาน เราคือชนชั้นเดียวกัน เรามีความรู้สึกโกรธ และเจ็บปวดร่วมกันจากโครงสร้างสังคมทุนนิยม เผด็จการทางการเมือง และเศรษฐกิจ หรือ คน 1% ในประเทศนี้แยกเราออกจากกัน และ คน 1% มีรายได้มหาศาลบนความเสี่ยงของพวกเราที่ค่าตอบแทนอันน้อยนิด
ถึงเวลาแล้วที่คน 99% ต้องมาร่วมกันสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ที่การต่อสู้ของเราไม่ใช่เพียงเพื่อการทำงานเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในแต่ละวัน แต่เพื่อการทำงานที่เรารัก เราใฝ่ฝัน สามารถสร้างทางเลือกในชีวิตและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
สำหรับ We Fair เรามีชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 9 ด้าน ได้แก่ เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า เรียนฟรีถึงปริญญาตรีถ้วนหน้า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว สิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน งานและรายได้ เพิ่มค่าแรง และสิทธิต่างๆ ประกันสังคมถ้วนหน้า บำนาญถ้วนหน้า พหุวัฒนธรรม สิทธิทางสังคม สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผ้าอนามัย Sex Worker ชนเผ่าชาติพันธ์ LGBT ต้องเข้าถึงสวัสดิการเสมอหน้า ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ
เรายื่นข้อเสนอเหล่านี้ให้พรรคการเมืองทุกพรรค จนทำให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการประชันขันแข่งทางนโยบายในเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ผ่านมา 3 ปีไม่มีการดำเนินการใดๆ จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์
สถานการณ์สวัสดิการสังคมที่ถดถอย
สถานการณ์สวัสดิการสังคมในปัจจุบันมีความถดถอย เหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก
เด็ก 0-6 ปี จำนวน 4.2 ล้านคน เข้าถึงเงินอุดหนุนเด็กเพียง 1.4 ล้านคน การให้เงินแบบพิสูจน์ความจน มีอัตราตกหล่นถึง 30 % จากแนวคิดระบบสงเคราะห์ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงมากกว่า 2.8 ล้านคน
ลูกหลานคนยากจน 4 คนเท่านั้น จาก 100 คน ที่ได้เรียนปริญญาตรี เมื่อทุกคนเข้าไม่ถึงการศึกษา ความยากจนจึงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
การรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพมีงบประมาณรายหัวราวๆ 4000 บาทต่อปี ในขณะที่ข้าราชการมีรายหัว 15,000 บาท โดยไม่มีเพดานงบประมาณในการรักษา
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท ปี 2565 ผู้สูงอายุ 10 ล้านคนเศษ ได้รับงบประมาณเพียง 7 หมื่นล้านบาท แต่เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการไม่ถึง 9 แสนคน ได้รับงบประมาณสูงถึง 3 แสนล้านเศษ
เมื่อเปรียบเทียบเงินผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน วันละ 20 บาท หรืออาหารเพียงมื้อละ 7 บาท ในขณะที่ค่าอาหารกลางวัน สว. มื้อเดียว 630 บาท มากกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งเดือน และเป็นค่าอาหารที่ต่างกันเกือบ 100 เท่า
ชนชั้นนำปรสิตสร้างสวัสดิการอภิสิทธิชน
ดังนั้นแล้ว มันไม่ใช่ไม่มีเงินสำหรับรัฐสวัสดิการ แต่มันเป็นแบบนี้ในทุกยุคทุกสมัย เพราะชนชั้นนำปรสิต 1% ขโมยงบประมาณของพวกเรา พวกเขาหลอกหลวงเรา กล่อมเกลาทางสังคมผ่านระบบการศึกษา และสร้างมายาคติทางสังคมให้เราเชื่องเชื่อว่ารัฐสวัสดิการทำไม่ได้
พวกเราคือคน 99% เราจึงต้องพังทลายระบอบชนชั้นนำปรสิต เราต้องปฏิรูประบบภาษี ระบบสวัสดิการอภิสิทธิ์ชน เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการของพวกเรา ผมเชื่อว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปได้
สวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้ามาจากการต่อสู้
เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ ประวัติศาสตร์สอนให้เราตระหนักว่าการมีสวัสดิการที่ก้าวหน้าไม่ได้เกิดขึ้นจากฟากฟ้าหรือใครประทานให้ แต่เป็นผลจากการต่อสู้
ย้อนกล่าวถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การปะทะกันระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดขึ้นโดยทันที เมื่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ปรากฎขึ้นพร้อมกับเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งถือเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมฉบับแรกของไทย แต่ถูกโจมตีว่าเป็นแผนของคอมมิวนิสต์ ไม่ถูกบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น ได้มีการวางรากฐานการศึกษาที่สำคัญ คือ การศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในปี 2517 การนัดหยุดงานของโรงงานทอผ้านับหมื่นคน โดยเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงจาก 18 บาท เป็น 25 บาท การเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาฯ นำไปสู่การออกใช้ พ.ร.บ ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 พ.ร.บ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และการเคลื่อนไหวของกรรมกร ได้นำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
เช่นเดียวกัน กฎหมายประกันสังคม เกิดขึ้นในปี 2533 สิทธิลาคลอดจาก 30 วัน เป็น 90 วัน เกิดขึ้นในปี 2536 มาจากการเคลื่อนไหวของขบวนแรงงานในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย และกระทั่งในปี 2544 เกิดนโยบายหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค จากการผลักดันของภาคประชาชน จากที่กล่าวมาเพื่อเน้นย้ำว่า การมีรัฐสวัสดิการจะต้องมาควบคู่กับประชาธิปไตย และจะต้องเกิดจากการต่อสู้ของคน คน 99%
ปักธงการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ
เครือข่าย We Fair เราเชื่อว่าอำนาจในมือของประชาชนต้องถูกใช้ในทุกระดับ ไม่ว่าในสภา สหภาพ สถานที่ทำงาน ต้องกระจายอำนาจตัดสินใจให้แก่ทุกคนในทุกระดับ เราจะร่วมกันสู้ไปกับสหภาพคนทำงาน สหภาพแรงงาน เราจะสู้เคียงข้างกลุ่มราษฎร แนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานกับสิทธิพลเมืองไปพร้อม ๆ กัน ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เราจะปักธงแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย และแนวคิดการสร้างอำนาจต่อรองจากการรวมตัว เพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเราทุกคนคือคนทำงาน คน 99% ของสังคมนี้
รับชมวิดิโอการกล่าวปราศัยเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับคนทำงาน99%” ได้ที่ https://fb.watch/bsPTXvxaWL/