การเรียนออนไลน์เป็นโอกาสหรืออุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษายุคCOVID-19

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลได้เปิดช่องทางการเรียนออนไลน์ที่บ้านหรือ Learn from Home
โดยเชื่อว่าจะเป็นการลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทั้งนี้เมื่อเปิดการเรียนการสอนจริงกลับพบว่ามีผู้ปกครองต่างร่วมสะท้อนความเห็นในลักษณะที่สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนและอุปสรรคต่างๆในการเข้าถึงการศึกษา

บทความชิ้นนี้ตั้งใจนำเสนอแง่มุมต่างๆของการจัดการศึกษาทางออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและเงื่อนไขในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเล่าผ่านความล้มเหลวของจินตภาพการศึกษาทางไกลภายใต้ร่มเงาสถาบันกวดวิชา และเงื่อนไขทางการเรียนรู้ของประชากรที่แตกต่างกันภายใต้หลักสูตรแกนกลางที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลาย

 

มายาคติเรื่องการเรียนทางไกลจากสถาบันกวดวิชา

ในยุคก่อนCOVID-19 หากกล่าวถึงการเรียนการสอนออนไลน์หรือการศึกษาทางไกลที่มีประสิทธิภาพ จินตนาการของผู้ปกครองและนักศึกษาจำนวนมากจะนึกถึงสถาบันกวดวิชาชื่อดังที่ฝากผลงานทำให้นักศึกษาทั่วประเทศไทยสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้เป็นจำนวนมหาศาล และแทบไม่มีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำคนใดที่ไม่เคยผ่านการกวดวิชามาก่อน

ทว่าในขณะเดียวกันก็ไม่มีเคยมีการยืนยันว่าหากกวดวิชาแล้วจะสามารถสอบผ่านเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ สิ่งที่ปรากฏจริงคือมีทั้งคนที่สามารถทำโจทย์ตามครูผู้สอน และคนที่หลับเพราะตามเนื้อหาไม่ทัน รวมถึงคนที่ไม่ได้อยากเรียนแต่ถูกพ่อแม่บังคับ ดังนั้นมายาคติเกี่ยวกับการเรียนทางไกลที่เชื่อว่าจะทำให้ได้เรียนกับครูที่มีคุณภาพสูงในมาตรฐานเดียวกันนั้นย่อมมีเงื่อนไขที่เรียกร้องให้ผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ในระดับเดียวกันด้วย ในขณะที่ความจริงย่อมไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพื้นฐานความรู้ย่อมสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของแต่ละคน

 

การก่นด่าการเรียนออนไลน์ ทำให้ปัญหาที่แท้จริงหายไป

เราต้องไม่ลืมว่าต่อให้มี COVID-19 จะมีหรือไม่ และต่อให้โรงเรียนเปิดตามปกติแล้วก็ตาม ระบบการเรียนออนไลน์ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น การด่วนสรุปว่าการเรียนรู้ทางออนไลน์เป็นปีศาจร้ายของการศึกษาก็อาจเป็นข้อสรุปที่หลงยุคและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในเมื่อการเรียนในห้องเรียนทั่วไปมักมีการสั่งให้ทำรายงานจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำอยู่แล้ว ยังคงมีเยาวชนที่พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการฟังเพลงในYoutube รวมถึงการเรียนรู้ข่าวสารและประเด็นทางสังคมทางออนไลน์ในยุคที่รัฐบาลปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในโทรทัศน์และแบบเรียนการเรียนรู้ทางออนไลน์ย่อมเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน

แต่ปีศาจตัวจริงของเรื่องนี้คืออะไรขอชวนทุกท่านพิจารณาต่อไป ว่าเหตุใดนักเรียนจึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ เช่น ไม่มีโทรทัศน์ดิจิทัล, ไม่เงินซื้อSmart phone, ไม่มีอินเตอร์เน็ต, นักเรียนตาบอดไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรม Screen Reader หรือSmart phone ที่มี Voice over, เอกสารประกอบการเรียนการสอนที่ไม่ใช่ไฟล์ DOC (เช่น PDF) ทำให้นักเรียนตาบอดไม่สามารถใช้โปรแกรมอ่านเอกสารได้  ท่านได้คำตอบหรือยังว่าปีศาจตัวจริงคืออะไร

 

การเรียนออนไลน์และการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา

วันที่ 14 พ.ค.2563 คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ให้สัมภาษณ์กับทางPPTVในงานแถลงข่าว “การจัดการศึกษาทางไกลผ่านระบบดิจิทัล” โดยให้กล่าวถึงโรงเรียนที่ไม่มีทีวีและไฟฟ้าดังนี้ “ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีไฟ อาจไม่มีทีวี เราก็ต้องคิดว่าหากอยู่ไกลขนาดนั้นไวรัสคงไปไม่ถึง โอกาสจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนก็น่าจะมี” สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงศึกษารับรู้มาโดยตลอดว่ามีโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า โทรทัศน์หรือกระทั่งอินเตอร์เน็ตใช้งาน แต่กลับให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่นับว่าเป็นปัญหาอะไรแถมเป็นข้อดีที่ไวรัสไปไม่ถึงเสียอีก

ความเห็นของเดชรัต สุขกำเนิดต่อบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วันที่ 17 พ.ค. 2563 ก่อนเริ่มการเรียนออนไลน์ 1 วัน ได้มีผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ Jatupon Boriboon ได้โพสต์ภาพ ยายและเด็กวัยประถมกำลังยืนอยู่หน้าร้านขายโทรศัพท์มือถือ พร้อมบรรยายประกอบภาพว่า คุณยายกำลังกำเงิน 2000บาทเดินหาซื้อโทรศัพท์ให้หลานได้มีโอกาสเรียนออนไลน์ แล้วทางร้านขายโทรศัพท์แนะนำให้คุณยายซื้อพร้อมโปรโมชั่นแต่ก็มาพร้อมกับภาระการจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน แต่หากย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนรัฐประหารมีนโยบายแจกแท็บเล็ตกลับถูกตีตกด้วยเหตุผลด้านความพร้อมของครูในขณะนั้น

มาตรการเยียวยาหรือเงินทดแทนการว่างงานในอัตราที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายของภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงที่อาจมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป นโยบายที่ละเลยความมั่นคงในชีวิตของเด็กและเยาวชนเช่นนี้ส่งผลให้ ครอบครัวที่มีบุตรจำนวนมากย่อมประสบกับภาวะอดอยาก อันส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายต่อสุขภาพจิตส่งผลต่อสมาธิและสมรรถนะในการเรียนรู้ ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการทักษะต่างๆในระยะยาว

ในขณะที่พระราชบัญญัติกองเพื่อความเสมอทางการศึกษา พ.ศ.2561 ได้ระบุให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์และเด็กด้อยโอกาส แม้ฟังผิวเผินแล้วอาจรื่นหูแต่แท้จริงแล้วแลกมากับกระบวนการพิสูจน์ความยากจนที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกเห็นตรงกันว่ากระบวนการพิสูจน์ความยากจนนั้นทำให้คนจนไม่ได้รับโอกาสไปโดยปริยาย เพราะต่อให้รัฐบาลมีองคาพยพต่างๆมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถควานหาเด็กยากจนทุกคนได้ ดังเช่นเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่มีเด็กยากจนตกหล่นไม่ได้รับเงินดังกล่าวถึง 28% การสงเคราะห์ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะมีคนที่ตกหล่นเช่นนี้จึงราวกับการเล่นตลกกับความยากจน และทำให้อนาคตของเด็กถูกพันธนาการด้วยข้อจำกัดของเศรษฐกิจในครอบครัว

นอกจากนี้เด็กที่มีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้ที่ต้องเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาเฉพาะบุคคลนั้น ไม่ถูกนับอยู่ในเรื่องราวของการเรียนออนไลน์ของรัฐบาลที่มีหลักสูตรกลางหลักสูตรเดียว ผู้ปกครองที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและค่าหลักสูตรพิเศษได้ย่อมส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษาไปโดยปริยาย ดังนั้นหากจะกล่าวถึงข้อผิดพลาดของการเรียนทางไกลของรัฐบาลคือวิธีคิดแบบ one size fits all กล่าวคือหลักสูตรเดียวสำหรับคนทุกกลุ่มย่อมทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีดำเนินนโยบายแบบทิ้งคนไว้ข้างหลังนี้ช่างย้อนแย้งกับคำว่า “No one left behind” ที่รัฐบาลเลือกใช้เป็นสโลแกนมาตลอด 6 ปี

ซึ่งโดยสรุปแล้วการเข้าถึง (Accessibility) โอกาสทางการศึกษาออนไลน์ถูกจำกัดด้วย 5 เงื่อนไข
1. Household Economic Barriers (ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจในครัวเรือน)
2. Information Technology Barriers (ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร)
3. Legal Barriers (ข้อจำกัดของนโยบายที่ละเลยความมั่นคงในชีวิต)
4. Charity Cultural Barriers (ข้อจำกัดของวัฒนธรรมสังคมสงเคราะห์เวทนานิยม)
5. Centralized Educational Barriers (ข้อจำกัดของการศึกษาแบบรวมศูนย์)

คนพิการทางการเคลื่อนไหวแม้ไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้แต่กลับถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษาไว้ด้วยสภาพอาคาร

การเรียนออนไลน์กับโอกาสทางการศึกษา

ในทางกลับกันการเรียนออนไลน์ก็ได้ช่วยทลายข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวและเด็กในพื้นที่ห่างไกล นั่นคือ Physical Barriers (ข้อจำกัดทางกายภาพ) เนื่องจากในปัจจุบันยังคงมีเด็กนักเรียนที่ไม่สามารถไป ‘เรียนร่วม’ ในสถานศึกษาชั้นนำได้เพียงเพราะไม่มีอาคารเรียนที่เอื้อกับการเข้าเรียน เช่น ไม่มีลิฟท์หรือทางลาดที่คนพิการสามารถเข็นวีลแชร์ไปที่ต่างๆด้วยตนเองได้ แม้วิธีการแก้ไขที่แท้จริงคือการปรับสภาพแวดล้อมให้เป็น Universal Design ทว่าพรบ.ควบคุมอาคารไม่มีกลไกที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

การเรียนออนไลน์แม้ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนแต่อาจเป็นทางลัดที่ช่วยขยายโอกาสให้เด็กพิการทางการเคลี่อนไหวได้มีโอกาสเรียนร่วมกับเพื่อนๆตามศักยภาพการเรียนรู้ที่ตนเองมีโดยไม่ถูกจำกัดด้วยขั้นบันไดทางขึ้นอาคาร แต่ถึงเช่นนั้นการเรียนออนไลน์แบบฉบับของรัฐบาลก็ยังไม่ใกล้เคียงกับการเรียนร่วม (Inclusive Education) เพราะขาดการ “ปฏิสัมพันธ์” ระหว่างผู้เรียน-ผู้เรียน และ ผู้เรียน-ผู้สอน

 

ประสิทธิภาพในการเรียนรู้กับการปฏิสัมพันธ์

หากอ้างอิงตามแนวคิดพิระมิดการเรียนรู้ ( Learning Pyramid ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนในแวดวงการศึกษาไทยนิยมใช้อ้างอิง โดยแนวคิดนี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆกับอัตราการจดจำเนื้อหา (Retention rate) โดยระบุว่าการฟังบรรยาย( Lecture) มีอัตราการจดจำได้เพียง 5% ในขณะที่การถกเถียง (Discussion) มีอัตราการจดจำได้ถึง 50% และการใช้ความรู้ดังกล่าวไปสู่การนำเสนอหรือสอนผู้อื่นในทันทีนั้นทำให้มีอัตราการจดจำได้ถึง 90% โดยสรุปคือการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้อย่างยิ่ง

ถึงแม้แนวคิดพิระมิดการเรียนรู้จะเป็นที่นิยมในแวดวงการศึกษาไทย แต่การเรียนออนไลน์แบบฉบับของรัฐบาลนั้นไม่สามารถรองรับการปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนได้เพราะเป็นรูปแบบการบรรยาย (Lecture) เพราะเทคโนโลยีที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ และหากแม้จะใช้เทคโนโลยีที่ให้มีสามารถถาม-ตอบได้ สัดส่วนครูกับนักเรียนทางออนไลน์จำนวนหลายแสนคนก็ไม่เอื้อให้เกิดการถามตอบได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนปัญหาในห้องเรียนทั่วไปด้วย

ในขณะที่ห้องเรียนโรงเรียนเอกชนในประเทศไทยที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรับการศึกษาพบว่าได้มีการจำกัดอัตราส่วนระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนอยู่ที่ 1 : 20 เพื่อเอื้อให้จำนวนนักเรียนมีโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ห้องเรียนของโรงเรียนรัฐบาลอาจมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 : 60 ซึ่งนั่นย่อมส่งผลต่อโอกาสในการปฏิสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในระดับที่แตกต่างกัน และส่งผลต่อข้อจำกัดในการจัดการศึกษาในสาระวิชาที่ต้องมีแนวคิดเชิงวิพากษ์

ซึ่งบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยนและช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นหาตนเองในระหว่างบทสนทนานั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถาบันกวดวิชาที่มีเป้าหมายทางการศึกษาเป็นเพียงการทำข้อสอบได้ เมื่อการศึกษาเป็นเพียงสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ มิใช่สิ่งที่ผู้เรียนตั้งคำถามและต้องการขวนขวายหาความรู้ การศึกษาเช่นนี้ย่อมผลิตประชากรที่ไร้จินตนาการ และเป็นเพียงหมากเบี้ยทางการเมืองของชนชั้นปกครอง การนำสถาบันกวดวิชามาเป็นต้นแบบทางการศึกษานั้นจึงเป็นหน่ออ่อนของความล้มเหลวทางการศึกษาอย่างแท้จริง

ดังนั้นโจทย์สำคัญคือจะเพิ่มโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนควบคู่กับการเรียนออนไลน์อย่างไร ภายใต้การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นงบบุคคลมากกว่า 62% ของงบประมาณทั้งหมด จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการบุคลากรอย่างไรให้เอื้อกับการเรียนรู้ทางออนไลน์ และพัฒนาให้ผู้เรียนจากทางบ้านสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีของครู และไม่ถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษาด้วยเศรษฐกิจของครอบครัวนักเรียน

บทบาทของรัฐบาล(ที่ควรจะเป็น)ในระบบการศึกษาออนไลน์

1.) เพิ่มหลักสูตรที่หลากหลายมากพอที่จะให้เด็กได้เลือกเรียนในโปรแกรมที่เหมาะกับตนเอง
ในPlatformที่เด็กคุ้นเคย เช่น Youtube โดยเปิดรับCreatorทางออนไลน์ และให้กระทรวงศึกษา
รับรองหลักสูตรออนไลน์ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล
2.) ให้อุปกรณ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบถ้วนหน้า โดยอาจให้เป็นคูปองแลกซื้อเพื่อให้นักเรียน
สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ทุกคนไม่ว่าจะต้องเรียนที่บ้านหรือที่โรงเรียน นักเรียนทุกคนควรมีโอกาส
เข้าถึงอุปกรณ์การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และระบบการซ่อมบำรุงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3.) ให้เงินสนับสนุนเด็กถ้วนหน้า 0-18 ปี และเงินสนับสนุนเยาวชน 19-22 ปี โดยให้เป็นรายเดือน
เทียบเท่าเส้นความยากจนแบบถ้วนหน้า เพื่อเป็นการรับประกันว่าการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษานั้น
ไม่ได้เกิดจากความหิวโหยในครัวเรือน ซึ่งกระทบต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการ

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ( We Fair )

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *