ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : มายาคติและการโจมตีแนวคิดรัฐสวัสดิการ ตอนที่ 1

มายาคติและการโจมตีแนวคิดรัฐสวัสดิกา

7 ความเข้าใจผิดที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ใช้โจมตีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

และสนับสนุนแนวคิดสังคมสงเคราะห์หรือระบบเครดิตคนจน

(ตอนที่ 1)

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การนำเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในสังคมไทย มีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ในสังคมไทย มีการนำเสนอแนวคิดนี้มาอย่างยาวนาน และแทบทุกครั้งจะมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองขัดขวางคัดค้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างยิ่งในการพัฒนารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และหมดเวลาไปกับระบบสังคมสงเคราะห์ที่แบ่งผู้คนเป็นชนชั้น

แนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมดังกล่าว สะท้อนถึงการมองว่าประชาชนไม่พึงได้รับสวัสดิการในฐานะสิทธิ แต่ต้องพิสูจน์ความจนภายใต้ระบบบุญคุณ และความน่าสงสารผ่านระบบอุปถัมภ์ ในวันนี้แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า และประเทศมีความมั่งคั่งขึ้นมาก การความเดือดร้อนอันมหาศาลของประชาชนยังคงมีอยู่อย่างมากมาย หากวิธีคิดของเหล่าชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการที่ยังคัดค้านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าก็ยังคงเสียงดัง

จึงขอสรุปประเด็นปฏิกิริยาของการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 7 ประการ ดังนี้

1. ไม่มีทรัพยากรพอสำหรับทุกคน

ทรัพยากรและความมั่งคั่งทั้งหมดในประเทศนี้ มาจากการทำงานของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ ฯลฯ ล้วนสร้างความมั่งคั่งแก่สังคม แต่ระบบกรรมสิทธิ์ทำให้กลุ่มนายทุนสามารถครอบครองทรัพย์สินและทรัพยากรมากล้น จนใช้ไปได้หลายชาติก็ไม่หมด

พวกเขาไม่ได้รวยจากการฉลาด ขยัน เก่ง แต่รวยด้วยการส่งต่อและครอบงำทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท งบประมาณในการใช้ทำรัฐสวัสดิการเพียง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่เพียง 3 แสนล้านบาทดังนั้นแล้ว เรามีงบประมาณเพียงพอสำหรับทุกคน เพียงแต่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและเทคโนแครตต่าง กลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และทำให้คนธรรมดามีอำนาจในการตั้งคำถามถึงส่วนเกินทางเศรษฐกิจมากขึ้น

2.ถ้าทรัพยากรมีจำกัดต้องให้คนจนก่อนถึงจะเพียงพอ

ลักษณะนี้คือข้ออ้างสำคัญที่จะไม่ไปกระทบต่อกระเป๋าของเหล่านายทุนและชนชั้นนำ โดยใช้ภาพทางศีลธรรม และความน่าสงสารของคนจนขึ้นมาบังหน้า การจัดสวัสดิการเฉพาะคนจน นอกจากเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังสิ้นเปลืองค่าการพิสูจน์สิทธิ ความคลุมเครือของการนิยามลักษณะผู้ที่ควรได้รับ ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ในเศษเนื้อที่ชนชั้นปกครองโยนลงมาให้

แต่งานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศยืนยันว่า การให้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นผลดีต่อคน “จนที่สุด” มากกว่า ระบบที่ให้แต่คนจนอย่างเดียว เพราะกลุ่มคนที่เปราะบางพวกเขาก็เหมือนคนทั่วไปที่ ไม่ชอบระบบพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ชอบการประทับตรา หรืออาจไม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือ ไม่มีเวลาที่จะทำการพิสูจน์สิทธิ์ต่าง

เมื่อพิจารณาถึงสังคมไทย ก่อนที่จะมีนโยบายบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนยากคนจนย่อมไม่สบายใจเวลาจะมาหาหมอ เพราะหากไม่มีเงินต้องเข้าสู่ระบบสัมภาษณ์อนาถา ไม่มีใครอยากโดนสัมภาษณ์พวกเขาจึงมาหาหมอเฉพาะเวลาป่วยหนักเจียนตาย และรักษาไม่ทันแล้ว

เช่นเดียวกับนโยบายด้านผู้สูงอายุแบบปะผุ แบบที่มีมาเต็มไปด้วยความล้มเหลว กระทั่งการปรับสู่ระบบเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า เช่นเดียวกับกรณีศึกษาต่างประเทศจะพบว่าเมื่อระบบสวัสดิการขยายสู่ระบบถ้วนหน้ามากขึ้น กลุ่มคนที่เปราะบางไม่ว่าจะมีโรคเรื้อรังระยะยาว หรือมาจากครอบครัวที่การศึกษาไม่สูงมีโอกาสพัฒนาชีวิตได้ดีกว่า การให้ระบบแบบพิสูจน์ความจน

ดังนั้น ระบบที่ดีคือระบบที่ใช้ระบบถ้วนหน้าให้ทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มเจ้าสัวอีกที

3.รัฐช้าต้องช่วยกันเอง กลไกตลาดทำงานได้ดีกว่า รัฐสวัสดิการทำลายเสรีภาพ

เป็นคำอธิบายเพื่อให้เรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไร แต่คำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมของอุรุกวัย Mujica ได้ตอบคำถามต่อนักข่าวว่า “หากคุณมีเงินหมื่นล้าน คุณจะทำอะไร” แน่นอนว่าหากเป็นคนรวยทั่วไปที่ต้องการคำตอบที่ดูดี คงบอกว่าจะนำเงินเหล่านี้ไปช่วยคนจน เอาไปทำศูนย์เด็กกำพร้า หรือช่วยคนแก่ แต่อดีตประธานาธิบดีผู้นี้อธิบายว่า มันเป็นคำถามที่ไร้สาระ เพราะการที่คุณจะมีหมื่นล้านได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ไปเอามาจากคนอื่น ในเมื่อคนมีหมื่นล้านกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาจะนำสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร การแก้ไขกันเองนอกจากทรัพยากรที่มีจำกัดแล้ว ยังเป็นการผลิตซ้ำสองแนวคิดที่มีปัญหาคือ

1. จำเป็นต้องเลือกคนที่มีความจำเป็นก่อน จึงนำสู่การช่วยเหลือตามลำดับชั้น

2.ไม่ต้องท้าทายอำนาจรัฐเพราะรัฐไม่มีประโยชน์อะไร พร้อมทั้งยังเป็นการส่งเสริมคุณค่าของลำดับชั้น ผ่านระบบอุปถัมภ์ บุญคุณ

นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการที่จัดกันเอง มักแฝงด้วยผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อม หรือสวัสดิการมีคุณภาพต่ำไม่ทั่วถึง

ในสัปดาห์ถัดไปเราจะพูดถึงประเด็นอีก 4 ประเด็นที่เหลือ ไม่ว่า !)ถ้าให้สวัสดิการถ้วนหน้า ความเหลื่อมล้ำไม่หายไป คนรวย คนจน ชนชั้นกลาง ไม่ควรได้ หรือ 2) การจัดสวัสดิการแล้วผู้คนจะขี้เกียจนอนรอสวัสดิการ ตามด้วย 3) ข้อกังวลที่กลุ่มเสรีนิยมใหม่บอกว่า คนจะใช้เงินไปตรงตามวัตถุประสงค์ถ้าให้แบบไม่มีเงื่อนไข และ 4) การกล่าวว่าประเทศไทยข้อมูลไม่พร้อมสำหรับการทำรัฐสวัสดิการ

หัวข้อเหล่านี้ ล้วนเป็นคำพูดที่บั่นทอนการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และสะท้อนความล้าหลังของกลุ่มปฏิกริยาต่อความก้าวหน้าของสังคมทั้งสิ้น

(คลิกเพื่ออ่านตอนที่ 2)

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *