เดชรัต สุขกำเนิด

เดชรัต สุขกำเนิด : เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า: ความสำเร็จที่ผ่านมาและความท้าทายในอนาคต

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า: ความสำเร็จที่ผ่านมาและความท้าทายในอนาคต
เดชรัต สุขกำเนิด
เดชรัต สุขกำเนิด
ในอดีต การได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยหรือยากจน ในช่วงเวลานั้น (พ.ศ. 2551)มีจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 1,783,776 คน แต่เมื่อรัฐบาลประกาศสนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ก็มีผลให้จำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นเป็น 5,458,843 คนในปี พ.ศ. 2552 และเพิ่มเป็น 6,521,749 คนในปี พ.ศ. 2554
แม้ว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน แต่มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งไม่ได้รับเบี้ยยังชีพดังกล่าว โดยมีสาเหตุเพราะ (ก) ไม่ประสงค์จะขอรับเอง (ข) กำลังอยู่ในระหว่างขึ้นทะเบียน และ (ค) ไม่ทราบข้อมูลจึงไม่ได้ขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ในปี พ.ศ. 2554 จำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคิดเป็นร้อยละ 80.07 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยในชนบท สัดส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เท่ากับ 86.65 และในเขตเมืองเท่ากับ 71.14 ของผู้สูงอายุในเขตชนบท และเมืองตามลำดับ และหากพิจารณาจากกลุ่มครัวเรือนยากจน (ตามเส้นความยากจนของสศช.) พบว่า ร้อยละ 89.20 ของกลุ่มครัวเรือนยากจน (ที่มีผู้สูงอายุ) ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมาก หรือมีอัตราตกหล่นประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2560 (ปีล่าสุดที่ สศช. จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและการกระจายรายได้) จำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 8.16 ล้านคน โดยกลุ่มครัวเรือนยากจน (ที่มีผู้สูงอายุ) ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.76 ของกลุ่มครัวเรือนยากจน หรือมีอัตราตกหล่นประมาณร้อยละ 8 ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่ไม่ยากจน (ที่มีผู้สูงอายุ) ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงในอัตราร้อยละ 82.19 และหากนักเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่สุด 10% แรกของประเทศ ครัวเรือนกลุ่มนี้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 51.41 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนกลุ่มนี้ (ที่มีผู้สูงอายุ)
การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากลักษณะสวัสดิการเฉพาะกลุ่มมาเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าได้ช่วยให้สัดส่วนความยากจนในหมู่ผู้สูงอายุลดลงอย่างมาก กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2551 ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีฐานะเป็นคนยากจน (ตามเส้นความยากจน) ถึงร้อยละ 27.49 (หรือมากกว่าหนึ่งในสี่) ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยเฉพาะในชนบทสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยากจนสูงถึงร้อยละ 35.24 (หรือมากกว่าหนึ่งในสาม) ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าแล้ว สัดส่วนความยากจนของผู้สูงอายุทั่วประเทศลดลงจากร้อยละ 27.49เหลือร้อยละ 16.13และสัดส่วนความยากจนของผู้สูงอายุในชนบทลดลงจากร้อยละ 35.24 เหลือร้อยละ 20.69
ถ้าพิจารณาในแง่จำนวนคนจน การให้เบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุช่วยลดจำนวนผู้สูงอายุยากจนลงจาก 2.46 ล้านคนในปี พ.ศ. 2551 เหลือ 1.75 ล้านคนในปี พ.ศ. 2554 หรือลดลงไปประมาณ 700,000 คน หรือลดลงไปถึงร้อยละ 29 ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น
รายงานล่าสุดของ สศช. ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า สัดส่วนความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุได้ลดลงจากร้อยละ 16.13 ในปี พ.ศ. 2554 เหลือร้อยละ 8.48แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่มีสัดส่วนความยากจนอยู่ที่ร้อยละ 7.21 ของประชากรทั้งหมด
ทั้งนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อสัดส่วนความยากจน พบว่า การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีผลต่อการลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับการได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีส่วนช่วยลดความยากจนลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของธนาคารโลกล่าสุด (มีนาคม 2563) ที่พบว่า เงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในการช่วยลดความยากจนของไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558-2560 ในทางตรงกันข้าม รายได้จากฟาร์มและการประกอบกิจการของครัวเรือนยากจน (ที่ลดลง) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาต่อมา
กล่าวโดยสรุป การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุในลักษณะถ้วนหน้ามีผลอย่างสำคัญยิ่งที่ในการลดความยากจนในประเทศไทย เพราะมีส่วนสำคัญในการรองรับความไม่แน่นอนของรายได้ (และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สุขภาพ)ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี อัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบันที่กำหนดไว้ 600 บาท/คน/เดือน และปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามอายุ (กล่าวคือ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท 80-89 ปีได้รับ 800 บาท และ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท) นั้น เป็นอัตราที่กำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แล้ว และยังไม่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน หรือนับเป็นเวลา 8 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากเส้นความยากจนที่เพิ่มขึ้น จากปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเท่ากับ 2,492 บาท/คน/เดือน แต่ล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 เส้นความยากจนได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,710 บาท/คน/เดือน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 218 บาท/คน/เดือน ดังนั้น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ควรได้รับการปรับขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอของพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาล 2 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้เสนอไว้ว่า จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/เดือน เช่นกัน แต่ยังไม่มีการดำเนินการตามที่หาเสียงไว้แต่อย่างใด
หากมีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นเป็น 1,000 บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุ 10 ล้านคน (คำนวณเผื่อจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้น) ก็จะใช้เงินงบประมาณ ประมาณ 120,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตั้งงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ประมาณ 70,000 ล้านบาท อีกประมาณ 50,000 ล้านบาท
อนึ่ง ยอดเงินงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 10 ล้านคน เท่ากับ 120,000 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 45 ของเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 265,718 ล้านบาท (จำนวนประมาณ 7 แสนคน) เท่านั้น และในเบื้องต้น ก็อาจรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้ที่รัฐบาลเตรียมไว้กระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ก็เป็นได้
ส่วนในระยะยาว ความท้าทายที่แท้จริงคือ การยกระดับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นบำนาญแห่งชาติ และครอบคลุมการสนับสนุนที่เท่ากับหรือมากกว่าเส้นความยากจน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้สูงอายุทุกคนจะไม่ตกอยู่ภายใต้ความยากจนอีกต่อไป
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2555, รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2554. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2559, รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2558. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2561, รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2560. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
The World Bank Group. 2020. Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand.

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *