เปิดชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดย เครือข่าย WE FAIR

 

ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

เครือข่าย WE FAIR l WELFARE เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ

ประชากรกลุ่มเฉพาะ(คคสส.)

 

หลักการ :

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR) ได้จัดทำชุดข้อเสนอ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เป็นชุดข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมลํ้า การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและสุขภาวะ ดำเนินไปบนฐานคิดคุณค่าร่วมเรื่องรัฐสวัสดิการ จากความเชื่อโดยพื้นฐานว่า การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและสุขภาวะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมลดลง ทั้งนัยความสัมพันธ์ทางอำนาจและเศรษฐกิจ โดยนำเอารูปแบบและวิธีการที่มีการดูแลประชาชนควบคู่กับมาตรการทางภาษี เพื่อนำงบประมาณมาจัดสรรและกระจายประโยชน์ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง จากฐานคิดการจัดสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า (Universal Approach) ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศสภาพ ฐานะ ความพิการ

ดังที่ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยกล่าวถึงในปฏิทินแห่งความหวัง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เครือข่าย We Fair จึงตระหนักถึงการเข้าถึงหลักประกันรายได้ในทุกช่วงวัย ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และเป็นหมุดหมายในการจัดทำรัฐสวัสดิการด้านการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตร งาน รายได้ และประกันสังคม ระบบบำนาญ สิทธิทางสังคมและพหุวัฒนธรรม และการปฏิรูประบบภาษี โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นระบบที่จัดการความต้องการของประชาชนในฐานะสิทธิถ้วนหน้า ปฏิเสธระบบการนำกลไกตลาดเข้ามาใช้เพื่อควบคุมสิทธิของประชาชนตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ปฏิเสธระบบรับผิดชอบตัวเองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปฏิเสธระบบการสงเคราะห์พิสูจน์ความจนแบบอนาถา ปฏิเสธระบบประกันเอกชนที่สร้างลำดับชั้นระหว่างประชาชนด้วยกัน  เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรอันเป็นหัวใจของประชาธิปไตยและทำให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

 

ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ๗ ประเด็น ได้แก่

 

. การศึกษา

(๑) ข้อเสนอ

๑) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ ๐-๑๘ ปี จำนวน ๓,๐๐๐ บาท/เดือน

๒) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. จำนวน ๓,๐๐๐ บาท/เดือน

๓) ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็ก อายุ ๐-๓ ขวบ งบประมาณรายหัวประชากร รายละ ๑๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี

๔) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบประมาณรายหัวประชากร รายละ ๑๖,๐๐๐ บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้

๕) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร

(๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

               ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ได้แก่ ประชากรแรกเกิดจนถึงอายุ ๑๘ ปี ประมาณ ๑๕ ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับประมาณ ๑.๘ ล้านคน รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๑๗ ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ ๒๕ ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในระดับทุติยภูมิ ได้แก่ ผู้ปกครองและชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจในระดับฐานราก จากกำลังซื้อในชุมชนเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ให้อำนาจแก่ส่วนท้องถิ่นในการจัดการรายได้ดังกล่าวย่อมสร้างการเติบโตในระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ ด้านผลประโยชน์ของการเลี้ยงดูบุตร ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนืออยู่ที่ ๑.๖-๓.๒ เฉพาะสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ ๑.๙ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการยกระดับมาตรฐานอื่นๆ ดังนั้น ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจของไทยจึงประมาณ ๒ เท่า หมายความว่า เงินค่าเลี้ยงดูเด็ก ๓,๐๐๐ บาท ย่อมมีความหมายเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท ในกระเป๋าของครัวเรือน

ผลที่เกิดขึ้น คือ การค้ามนุษย์เด็กเป็นศูนย์ การตกออกจากการศึกษาภาคบังคับจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์ การลดลงของอัตราการกลั่นแกล้ง เหยียดเชื้อชาติ ศาสนา ในโรงเรียน cและลดอัตราการแข่งขันในระบบการศึกษา

(๓) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี

ใช้งบประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน ๐-๖ ปี เดือนละ ๖๐๐ บาท

 

๒ สุขภาพ

(๑) ข้อเสนอ

๑) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง

๒) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัวประชากร จำนวน ๘,๐๐๐-๘,๕๐๐ บาท/คน/ปี

(๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

               การเพิ่มและปรับงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลรายหัว จากระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบราชการ ให้เป็น ๘,๐๐๐ บาท/คน/ปี หรือประมาณ ๓.๗๕ % ของ GDP จะทำให้การรวมกองทุนสามกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้ ในเงื่อนไขที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต และผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น แม้การคำนวณผลได้ทางเศรษฐกิจจากนโยบายทางด้านการสาธารณสุขค่อนข้างทำได้ยาก แต่สามารถระบุตัวชี้วัดสำคัญได้ดังนี้

๑.ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ ๑ ของครัวเรือน

๒.การล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเป็นศูนย์

๓.ความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลหายไป คนที่มีรายได้สูงและคนที่มีรายได้น้อยของประเทศสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมกัน ตั้งแต่โรคที่มีค่าใช้จ่ายน้อยจนถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

(๓) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี

ใช้งบประมาณ ๔๖๗,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๓๑๑,๐๐๐ ล้านบาท จากฐานงบประมาณเดิม แต่จะได้งบประมาณเพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบประมาณส่วนราชการ ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท

 

. ที่อยู่อาศัยและที่ดิน

(๑) ข้อเสนอ

๑) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด ร้อยละ ๒ ต่อปี

๒) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ห้อง

๓) ผู้อยู่อาศัยในโครงการภาครัฐ สามารถเบิกค่าเช่าจากประกันสังคม รวมค่าน้ำไฟพื้นฐาน ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท/ ๓๕ ตารางเมตร จัดเก็บโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

๔) ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร ๑๕ ไร่ ต่อครอบครัว

๕) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด ร้อยละ ๒ ต่อปี สามารถเช่าซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและผ่อนระยะยาว

๖) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน

(๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

๑.สร้างที่อยู่อาศัยได้ ๗,๐๐๐,๐๐๐๐ หน่วย รองรับประชาชนได้มากกว่า ๑๐ ล้านคน และทำให้ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเช่าที่อยู่อาศัย ได้ร้อยละ ๗๐ ของค่าใช้จ่ายในตลาด

๒.การจัดเก็บภาษีที่ดินทำให้การกระจายออก และราคาที่ดินอยู่ในระดับเพื่อการเป็นมูลค่าใช้สอย มากกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน

๓.ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านลดลง  ประมาณ ๔๕ จากดอกเบี้ยร้อยละ ๒/ปี กล่าวคือ บ้านราคา ๑ ล้านบาท จากการผ่อนเดือนละ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท จะลดลงเหลือประมาณ ๓,๕๐๐ บาท/เดือน ทำให้ผู้คนเข้าสู่การเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองได้ง่ายขึ้นและทำให้การเข้ารับสิทธิที่อยู่อาศัยของรัฐน้อยลง

(๓) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี

ใช้งบประมาณ ๑๐๘,๐๐๐ ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบประมาณส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง

 

. งาน รายได้ ประกันสังคม

(๑) ข้อเสนอ

๑).ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค ๕๐๐ บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

๒).ค่าจ้างแรงงานให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ ๒% (การประกาศค่าจ้างอยู่ในเงื่อนไขการจ้างงานของทุกบริษัท)

๓).ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า

๔).การสมทบเงินประกันสังคม ขยายเพดานสูงสุดประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน

๕) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

๕.๑ แรงงานนอกระบบรายได้สูง ขยายเพดานเงินสมทบไม่จำกัดเพดาน สูงสุดประมาณ ๓,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อมีฐานเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน

๕.๒ แรงงานนอกระบบสามารถสมทบเพิ่มเติมเองได้ ๑,๘๐๐ บาท หรือ ๒,๗๐๐ บาท/เดือน จากอัตราส่วน ๙% จากฐานเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาท/เดือน หรือ ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่มีเงินเดือนสูงได้รับผลประโยชน์สูงขึ้นและสมทบเองมากขึ้น

๕.๓ แรงงานนอกระบบรายได้น้อย สมทบเงิน ๑๐๐ บาท รัฐสมทบให้ ๙๐๐ บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท ผู้ที่ไม่สมทบสิทธิไม่ขาดหาย ขาดสมทบได้สูงสุด ๑๒ เดือน และเมื่อยื่นภาษีพบว่ามีรายได้ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท/ปี ถือว่าสิทธิไม่ขาด

๕.๔ แรงงานนอกระบบรับการลาพักร้อนได้ ๕๐% ของค่าจ้างรายวันที่สมทบเป็นเวลา ๑๐ วัน/ปี (ให้แรงงานในระบบได้รับการเพิ่มสิทธิตามกฎหมายให้เป็น ๑๐ วันต่อปีเช่นกัน) ฐานเงินเดือนประกันสังคม ๑๐,๐๐๐ บาท คิดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๓๓๐ บาท รับสิทธิลาพักร้อนได้ ๕๐% ของค่าจ้าง (๓๓๐ บาท) รวมได้รับ ๑,๖๕๐ บาท/ปี (๕๐% x ๓๓๐ บาท x ๑๐ วัน ประมาณ ๑๖๕๐ บาท/ปี ) รับผิดชอบโดยสำนักงานประกันสังคม

๖).การเกษียณอายุ แรงงานนอกระบบรับเงินบำนาญตามฐานเงินเดือน อย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน ทำให้ได้รับเงินบำนาญ ๒,๐๐๐- ๕,๐๐๐ บาท/เดือน

๗).การลาคลอด ๑๘๐ วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก ๑ คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ

๘).การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี ไม่ว่าเลิกจ้าง ลาออก ไล่ออก เป็นจำนวน ๘๐% ของเพดานสูงสุดของฐานเงินเดือน (๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน) เป็นเวลา ๖ เดือน

๙) การว่างงาน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงาน ระบบประกันสังคม ๖ เดือน ให้ได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งได้งานใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสัมภาษณ์งาน และเริ่มงานใหม่ภายในสามเดือน

               (๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

๑.ผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดแรงงาน ประมาณ ๑๐ ล้านคน

๒.แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ๑๐ ล้านคน

๓.แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริง มากกว่า ๒๐ ล้านคน

๔.สามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณ การว่างงานได้ดีขึ้น สร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน

               (๓) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี

ใช้งบประมาณจากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ ๒ แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม

 

) ระบบบำนาญแห่งชาติ

(๑) ข้อเสนอ

๑.เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” ๓,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ

๒.มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก ๕ ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค

๓.รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง

               (๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

๑.ผู้สูงอายุ มีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริง ๙-๑๐ ล้านคน

๒.ผู้สูงอายุใช้สิทธิ์บำนาญถ้วนหน้าร่วมกับสิทธิประกันสังคม รับเงินบำนาญสูงสุด ๑๘,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท

๓.ลดการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงาน จากร้อยละ ๘๐ ให้เหลือร้อยละ ๓๐ ภายใน ๕ ปี

(๓) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี

งบประมาณที่ใช้เพิ่มขึ้น ๒๗๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ ๒๒๓,๗๖๒ ล้านบาท (เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ)

 

) สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ

(๑) ข้อเสนอ

๑).เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก ๘๐๐ บาท/เดือน เป็น ๓,๐๐๐ บาท/เดือน

๒) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ

๓) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่าจะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น

๔) ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮออร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

๕) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙)

๖) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง

๗).ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

๘) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น

๙) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการ ของประชาชนและชุมชน

               (๒) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น

๑. คนพิการสามารถมีอาชีพที่หลากหลาย และมีอิสระในชีวิตมากขึ้น ประมาณ ๒ ล้านคน

๒. การตกออกจากระบบการศึกษาและสวัสดิการพื้นฐานจากการเลือกปฏิบัติต้องเป็นศูนย์

๓. รัฐสวัสดิการวางอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน สลายความเป็นพลเมืองที่ยึดติดกับรัฐชาติ เพศสภาพ วัฒนธรรม ชาติพันธ์ รวมถึงความสามารถในการทำงาน ตัวชี้วัดความสำเร็จของรัฐสวัสดิการคือการนับรวมมนุษย์เข้าถึงระบบสวัสดิการโดยมีการแบ่งแยกน้อยที่สุด

 

) การปฏิรูประบบภาษี

งบประมาณเพื่อการจัดทำรัฐสวัสดิการ ประมาณการ ๑.๔ ล้านล้านบาท หากมีการดำเนินการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณโดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้

๑) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๒๔๐,๐๐๐ ล้านบาท

๒) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น ๓๐% ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

๓) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

๔) ภาษีที่ดินส่วนเกิน ๑๐ ไร่ (ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร ๒๐ ไร่) (ปัจจุบันที่ดินกว่า ๗๕ ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ ๓ ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ ๒,๐๐๐ บาท/ปี ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี

๔) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

๖) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด ๔๕% ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

๗) ปรับลดงบประมาณกลาโหม ๗๐ % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๘๐,๐๐๐ ล้านบาท

๘) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๒๒๐,๐๐๐ ล้านบาท

๙) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๖๓,๐๐๐ ล้านบาท

๑๐) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

๑๑) การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากรัฐสวัสดิการ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

๑๒) ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์

รวมงบประมาณ ๑.๔ ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

 

 

 

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *