119องค์กรเสนอประยุทธ์ เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก2000บาทถ้วนหน้าฝ่าCOVID-19

พุธที่ 22 เมษายน 2563 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กรได้ร่วมกันจัด “งานแถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้อเสนอ ปกป้องดูแลเด็กเล็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า” ณ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ คลองเตย
คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กรได้เสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็กช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 ขวบจากเดิม 600 บาทให้เพิ่มเป็น 2000 บาท นอกจากนี้คณะทำงานฯ119องค์กรได้เสนอให้จ่ายเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าไม่มีกระบวนการพิสูจน์ความยากจน จากเดิมที่จำกัดการให้เงินอุดหนุนเฉพาะเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000บาท/ปี พบว่ามีอัตราการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมาย 30% เด็กเล็กในครอบครัวที่ยากจนกว่า 30%ที่ยังคงไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรการ 54 วรรคสอง“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา…เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย” ดังนั้นระบบสวัสดิการถ้วนหน้านอกจากจะแก้ปัญหาช่องว่างเรื่องเด็กตกหล่นแล้ว ยังสามารถทำให้สวัสดิการไปถึงเด็กได้ทันที พอเพียง ครอบคลุม ช่วยให้มีฐานข้อมูลเด็กทุกคนในระยะยาว ลดการทำงานคัดกรองของภาครัฐที่เป็นภาระทั้งงบประมาณ กำลังคน เกิดระบบประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน

จดหมายเปิดผนึกถึง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอ ปกป้องดูแลเด็กเล็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-๑๙ ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒เห็นชอบโครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด อายุ ๐-๖ ปี เดือนละ ๖๐๐บาท แก่เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยง ต่อความยากจน โดยมีการลงทะเบียนและมีการคัดกรอง รายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี แม้จะมีข้อดีกว่าเดิมจากที่จำกัดรายได้เฉลี่ยครอบครัวไม่เกิน ๓๖,๐๐๐ บาทต่อปี แต่องค์กรภาคประชาสังคมด้านเด็ก ผู้หญิง ขบวนแรงงานทั้งในและนอกระบบ และสถาบันวิชาการ ได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ยืนยันข้อเสนอที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ “ขอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า อย่างน้อย ๐-๖ ปีเดือนละ ๖๐๐ บาท”
เหตุผลที่ชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า คือ
- มีผลการวิจัยทั่วโลกยอมรับว่า เด็กเล็ก ๐-๖ ปีเป็นช่วงวัยที่เป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตการสร้างคุณภาพชีวิตและ ศักยภาพมนุษย์ที่แข็งแกร่งในอนาคต เป็นการสร้างต้นทุนต่อความฉลาดทางสติปัญญา IQ และความฉลาดทางอารมณ์/จิตใจ EQ ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กในวัยเรียน การประกอบอาชีพในอนาคต และการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
- ผลการศึกษาวิจัย เรื่องประเมินผลกระทบและประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNICEF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันวิจัยนโยบายทางเศรษฐกิจ (Economic and Policy Research Institute : EPRI) จากประเทศแอฟริกาใต้ออกแบบและดำเนินการโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลการศึกษาสรุปว่า การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เด็กแรกเกิดที่ได้รับเงินรวมทั้งเด็กเล็กอื่นในครัวเรือนมีผลลัพธ์ทางโภชนาการดีกว่าเด็กที่มาจาก ครัวเรือนซึ่งไม่ได้รับเงินที่มีฐานะใกล้เคียงกัน ครัวเรือนที่ได้รับเงินมีการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา ๖ เดือน ครอบครัวที่ได้รับเงินเข้าถึงการบริการสุขภาพและสังคมมากกว่า ฯลฯ
- ประเด็นที่สำคัญ ในงานวิจัยพบว่า มีอัตราการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายยากจน ร้อยละ ๓๐ นั่น คือ เด็กแรกเกิดยากจนประมาณร้อยละ ๓๐ ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลคิดว่าจะดูแลเด็กเล็กที่ยากจนและส่งผลให้เด็กเล็กจำนวนมากไม่ได้รับการปกป้องดูแล ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การจะแก้ไขลดอัตราการตกหล่นของคนจนเป็นเรื่องยาก หากไม่ทำให้เป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
- สังคมไทยพัฒนาการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามายาวนาน โดยเฉพาะการเรียนฟรีอย่างน้อย ๑๒ ปี สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล แต่กลับมีนโยบายและการเลือกปฏิบัติเจาะจงเด็กยากจนด้วยระบบคัดกรองที่มีเด็กยากจนตกหล่นและเข้าไม่ถึงจำนวนมาก
สถานการณ์โควิด- ๑๙ ยิ่งจำเป็นต้องมีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
สถานการณ์โควิด-๑๙ ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจสังคมต่อทุกคนหลากหลายอาชีพทั้งในเมืองและชนบทเป็นวงกว้าง รวมทั้งมีผลกระทบที่รุนแรงครอบครัวของเด็กเล็กและเด็กเกิดใหม่ เช่นการมีรายได้ลดลงอย่างมาก ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานแบบปกติได้. ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ศูนย์เลี้ยงเด็กและโรงเรียนก็ปิด. ค่าใช้จ่ายเด็กเล็กในบ้านเพิ่มขึ้น และมีผลให้ไปทำงานไม่ได้. หรือต้องหาคนมาช่วยเลี้ยงดู นอกจากนี้อัตราการตกหล่นครอบครัวยากจนตามเกณฑ์เดิมก็อาจสูงขึ้นจากปัญหาและอุปสรรคในการลงทะเบียนเด็กเล็กรายใหม่ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องมีผู้รับรองรายได้ ต้องกรอกแบบฟอร์ม ต้องตรวจสอบ ซึ่งทำได้ยากขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นปัจจุบัน ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือการเกิดคนจนใหม่จำนวนมากกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ครอบครัวที่เคยมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ในภาวะปกติและไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ได้ทำให้ครอบครัวเหล่านี้จำนวนมากกลายเป็นครอบครัวยากจน ในขณะที่ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้
การให้ความช่วยเหลือเด็กเล็ก ๐-๖ ปี ให้เป็นแบบถ้วนหน้า จะทำให้ความช่วยเหลือไปถึงเด็กเล็กอย่างทันที เพียงพอ และครอบคลุม. ลดความจำเป็นด้านเอกสารและการตรวจสอบ แม้งบประมาณที่ใช้จะสูงกว่าการให้เงินอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงแต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ ของประเทศ และอัตราเด็กเกิดที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ การใช้งบประมาณในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรเห็นเป็นภาระ หากแต่เป็นการใช้งบประมาณลงทุนที่คุ้มค่า
“การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ ๐-๖ ปี แบบถ้วนหน้า” จึงเป็นสวัสดิการพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน โดยไม่ต้องแบ่งแยก “ยากดี-มีจน” แต่ให้เด็กเล็กทุกคนได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๕๔ วรรคสองระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา…เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย” และมาตรา ๔๘ “สิทธิของมารดาในช่วงระหว่าง ก่อน และหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ” ทั้งยังยืนยันว่า ประเทศไทยเคารพต่อข้อผูกพันที่มีต่อกติการะหว่างประเทศที่เป็นภาคี อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวมทั้งพันธะสัญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ที่มีนัยสำคัญถึง “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าและองค์กรเครือข่าย ตามรายชื่อในท้ายจดหมายนี้ ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบต่อการที่ประเทศไทยจะมีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า. เพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานตลอดจนป้องกันที่จะไม่ทิ้งเด็กให้ตกหล่นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
และในวาระเฉพาะหน้า เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนจาก ๖๐๐ บาทต่อเดือน เป็น ๒,๐๐๐บาทต่อเดือน[1] จนกว่าการระบาดจะบรรเทาลงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ถ้าให้เงินเด็ก ๐-๖ ปี แบบถ้วนหน้าจากเด็ก ๓.๕๓๘ ล้านคนรายละ ๒,๐๐๐ บาท ๑๒ เดือน ใช้งบประมาณ ๘๔,๙๒๔.๘๘ ล้านบาท คิดเป็น ๐.๕% ของ GDPเท่านั้น
แนวทางนี้นอกจากจะแก้ปัญหาช่องว่างเรื่องเด็กตกหล่นแล้ว ยังสามารถทำให้สวัสดิการไปถึงเด็กได้ทันที พอเพียง ครอบคลุม ช่วยให้มีฐานข้อมูลเด็กทุกคนในระยะยาว ลดการทำงานคัดกรองของภาครัฐที่เป็นภาระทั้งงบประมาณ กำลังคน เกิดระบบประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน
คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ๑๑๙ องค์กร
๒๒ เมษายน ๒๕๖๓
รายชื่อคณะทำงานและองค์กรเครือข่ายร่วมสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
- วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ฯ
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน(กป.อพช.)
- มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
- มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
- สหทัยมูลนิธิ
- มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
- ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove)
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ(HomeNet)
- เครือข่ายสลัม ๔ ภาค
- เครือข่ายพลังผู้สูงวัย
- สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา
- คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
- กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
- สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
- ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ
- สมาคมสตรีคนพิการ
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เชียงใหม่
- มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
- สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
- สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
- สถาบันธรรมชาติพัฒนา
- สถาบันวิจัยนิเวศน์วัฒนธรรมท้องถิ่น
- มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จังหวัดสุรินทร์
- มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- มูลนิธิพิทักษ์สิทธิสตรีและเด็ก
- มูลนิธิเพื่อนหญิง
- มูลนิธิผู้หญิง
- มูลนิธิขวัญชุมชน
- มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาชุมชน
- มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา
- มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ
- มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
- มูลนิธิก้าวหน้า
- สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
- สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น
- สมาคมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
- สมาคมจิตอาสาสร้างสุข
- สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
- สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย
- สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่
- สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ
- สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท.โทรคมนาคม
- สหภาพแรงงานอาหารและบริการประเทศไทย
- สหภาพผู้ปรุงอาหารและให้บริการ
- สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย
- สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิค ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย
- สมาพันธ์แรงงานเดนโซ่ ประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานอีซูซุ ประเทศไทย
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายผู้สูงอายุ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายคนพิการ จังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสาน
- เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
- เครือข่ายชุมชนชนเมือง จังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดขอนแก่น
- เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
- เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน
- เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคอีสาน
- เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
- เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- เครือข่ายแรงงาน สตรี TEAM
- เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว
- เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร (กทม.)
- เครือข่ายองค์กรสตรี ๑๔ จังหวัดภาคใต้
- เครือข่ายภาคประชาชนชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
- เครือข่ายสวัสดิการชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพประเทศไทย ๑๓ องค์กร
- เครือข่ายเยาวชนและครอบครัวสร้างสรรค์
- เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดสุรินทร์
- เครือข่ายแม่วัยใส อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
- กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง
- กลุ่มการเมืองหลังบ้าน
- กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่
- กลุ่มบำเพ็ญประโยชน์องค์กรเภสัชกรรม
- กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
- กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต้นหญ้าบ้านดู่จังหวัดสุรินทร์
- กลุ่มรุ่งอรุณ จังหวัดลำปาง
- ขบวนองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงใหม่
- คริสตจักรพลังแห่งความเชื่อจังหวัดสุรินทร์
- โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดลำพูน
- โครงการเพื่อผู้สูงอายุ – forOldy
- ชมรมผู้ติดเชื้อเพื่อนรักเขาสมิง
- ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ๔ ภูมิภาค
- ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการช่วยเหลือเด็กกำพร้า จังหวัดปัตตานี
- หน่วยรับเรื่องราวร้องเรียนที่เป็นอิสระ50(5) จังหวัดสุรินทร์
- Rainbow Dream Group เชียงใหม่
- สมัชชาคนจน
- สถานรับเลี้ยงเด็กพระคุณ จังหวัดสุรินทร์
- สโมสรนักศึกษานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
- องค์กรคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
- เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
- เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม WeFair
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
- กลุ่มอนุรักษ์ผายาผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู
- มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิเพื่อนหญิง
- มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า
- สมาคมพราว(มหาชัย)
- เครือข่ายเพื่อนหญิงนนทบุรี
- มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง(สคส.)
- เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม
- มูลนิธิไทอาทร
- มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์
- องค์กรต้นกล้า(เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนและครอบครัว) จังหวัดมุกดาหาร
ผู้ประสานงาน
- สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โทร.๐๘๑ ๘๓๗๒๕๗๘
- ศีลดา รังสิกรรพุม มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ โทร ๐๘๙ ๘๙๐๐๒๗๘
- เชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก โทร.๐๘๕ ๓๒๖๒๙๘๐
๒๒ เมษายน ๒๕๖๓
[1] จำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาทคำนวณจาก ๓๐% ของค่าจ้างแรงงานนอกระบบเฉลี่ยและการศึกษา minimum income standard โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่ารายจ่ายสำหรับเลี้ยงดูเด็กเล็กคือ ๓,๑๘๒ บาทต่อเดือน และถ้าพ่อแม่ต้องไปทำงาน จะมีค่าใช้จ่ายฝากเลี้ยงอีกเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๖,๑๘๒ บาท