365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า
การเสวนาสาธารณะ
“365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า”
“365 วัน รัฐบาลประยุทธ์ สู่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2564”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เวลา 12.30-16.30 น
ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ที่มาและความสำคัญ
กว่า 15 เดือน การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เพียงเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่ด้วยเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างประชันขันแข่งนโยบายรัฐสวัสดิการ ราวกับสังคมไทยกำลังก้าวสู่จินตนาการใหม่ ได้แก่ (1) เงินอุดหนุนมารดาตั้งครรภ์ เด็กและเยาวชน (2) การศึกษาฟรีจากชั้นอนุบาลถึงปวส./อุดมศึกษา (3) การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (4) การกระจายการถือครองที่ดินและที่อยู่อาศัย (5) การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การลาคลอด 180 วัน การลดชั่วโมงทำงาน การประกันรายได้ (6) ประกันสังคมถ้วนหน้า (7) การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (8) การเพิ่มเบี้ยคนพิการ
กว่า 365 วัน การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ปรากฎนโยบายสวัสดิการสังคมที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ ในปี 2563 งบประมาณสวัสดิการประชาชน 53.5 ล้านคน 296,422 ล้านบาท สวัสดิการข้าราชการ 6 ล้านคน 415,100 ล้านบาท เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2564 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายขาดดุล 3.3 ล้านล้านบาท โดยมีงบกลาง 614,616.2 ล้านบาท เป็นงบประมาณบำเหน็จบำนาญและเงินสมทบข้าราชการ 391,290.6 ล้านบาท งบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการ 74,000 ล้านบาท
กล่าวโดยภาพรวม รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดทิศทางการพัฒนานโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า อันถือเป็นสิทธิและเป็นหลักประกันชีวิตขั้นพื้นฐาน ในทางกลับกันรัฐบาลให้น้ำหนักกับสวัสดิการสังคมเชิงสงเคราะห์และเป็นภาระของปัจเจกบุคคล ทำให้การเข้าถึงสวัสดิการสังคมยังถูกจำกัดควบคุม ได้แก่ (1) นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 600 บาท/เดือน เฉพาะครอบครัวรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท เด็ก 4.3 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนเพียง 1.4 ล้านคน (2) การศึกษาในระดับปริญญาตรีคนจนเข้าถึงเพียง 4% (3) งบการรักษารายหัวที่แตกต่างกัน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม 3,959 บาท บัตรทอง 3,800 บาท ข้าราชการ 15,000 บาท (4) แรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 40 เพียง 3.3 ล้านคน (5) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (600-1,000 บาท) ต่ำกว่าเส้นความยากจน (6) คนพิการ 2 ล้านคน ได้เบี้ยความพิการเพิ่มจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 ล้านคน และคนอายุต่ำกว่า 18 ปี 1.2 แสนคน (7) งบประมาณบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2564 จำนวน 4.95 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5 พันล้านบาท
เมื่อพิจารณาวิกฤตการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยยาวนาน ประชากรวัยทำงานเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างและสูญเสียรายได้ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาจากการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีฐานข้อมูลไม่ทันสมัยและมีต้นทุนการคัดกรอง ได้ทอดทิ้งผู้คนจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทาง “สวัสดิการถ้วนหน้า” จะช่วยเหลือคนได้อย่างรวดเร็ว การสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ดีจะเอื้อให้คนทุกชนชั้นที่มีความสามารถความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง อันจะทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งยังจะทำให้ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมทีมีมายาวนานกว่าทศวรรษคลี่คลายลงด้วย
วิกฤตการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รัฐบาลทุกประเทศออกมาตรการรับมือและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีการกล่าวถึง New Normal และการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจสู่รูปแบบใหม่ ไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ การดูแลสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ (Welfare State) เพื่อสร้างสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคม การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึง การสร้างหลักประกันรายได้ของแรงงาน การสร้างระบบบำนาญถ้วนหน้าแก่กลุ่มผู้สูงอายุ การผลักดันให้ภาคธุรกิจและประชาชนสร้างหลักประกันด้านรายได้ กระทั่งแนวคิดระบบเงินเดือนให้เปล่า
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ร่วมกับ โครงการพัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (คคสส.) จึงจัดกิจกรรมการเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า : 365 วัน รัฐบาลประยุทธ์ สู่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2564” เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสร้างพื้นที่การถกเถียงแลกเปลี่ยน การติดตามทบทวนความเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ภายใต้บริบทสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะของภาครัฐในรอบปี รวมทั้งการนำเสนอทิศทางนโยบายสวัสดิการสังคม และข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายและการสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
วัตถุประสงค์
1) เพื่อสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยน การติดตามทบทวนนโยบายสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ภายใต้บริบทสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
2) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะของภาครัฐ ในรอบปี
3) เพื่อนำเสนอทิศทางนโยบายสวัสดิการสังคม ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
รูปแบบการดำเนินงาน
1) การจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล ในระยะเวลา 1 ปี โดยดำเนินการจัดทำแบบสอบถาม ในระหว่างวันที่ 1-6 กรกฎาคม 2563
2) การจัดทำรายงานการเปรียบเทียบชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เครือข่าย We Fair กับนโยบายพรรคการเมืองว่าด้วย “รัฐสวัสดิการ”
3) การจัดทำสื่อรณรงค์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ในประเทศไทย ภายใต้บริบทสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองสังคม
4) การเสวนาวิชาการ และการเสวนาสาธารณะ
5) การจัดทำรายงานสรุปข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ผู้เข้าร่วม
1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2) เครือข่ายประชากรกลุ่มเฉพาะ เครือข่ายประชาสังคม
3) นิสิตนักศึกษา
4) นักวิชาการ
5) สื่อมวลชน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน การติดตามนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ภายใต้บริบทสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองสังคม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย
2) รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล ในระยะเวลา 1 ปี เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
3) เกิดข้อเสนอนโยบายสวัสดิการสังคม และข้อสังเกตต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
กำหนดการ
12.30 – 13.00น. ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน
13.00 – 13.15 น กล่าวต้อนรับและแนะนำเครือข่าย We Fair
13.15 – 14.45 น. การเสวนา “ประเมินผลงาน 365 วัน รัฐบาลประยุทธ์
รัฐสวัสดิการไทยถดถอยหรือก้าวหน้า”
โดย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ
รายงานผลการสำรวจความเห็น ผลงานด้านสวัสดิการสังคมของรัฐบาล
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิเคราะห์นโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล
อภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังค
ดำเนินรายการโดย
อรุชิตา อุตมโภคิน
15.00 – 16.30 น การเสวนา “ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคมในรอบปี
และ ข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564”
โดย
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคม
และข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564
นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
สถานการณ์คนจน หลังสถานการณ์โควิด-19
สุนี ไชยรส มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคม กับข้อเสนอนโยบายสวัสดิการสังคม
จอน อึ้งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคม
ทิศทางรัฐสวัสดิการในสังคมไทย
ดำเนินรายการโดย
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair