อะไรคือเส้นความยากจน

ย้อนกลับในปี ค.ศ.1963-64 เส้นความยากจนได้รับการพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกา Mollie Orshansky เพื่อประเมินปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ Mollie ถือว่าเส้นความยากจนเป็นตัวชี้วัดความไม่เพียงพอรายได้ ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 20 Charles Booth ได้ใช้เส้นความยากจน  เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความยากจน ชีวิตแรงงานในลอนดอน ต่อมา Rowntree ได้ใช้เส้นความยากจนในแง่ของจำนวนเงินขั้นต่ำรายสัปดาห์ ในการสำรวจครัวเรือนในยอร์ก สหราชอาณาจักร ทำให้มีการแยกความแตกต่างในขณะนั้น ระหว่างความยากจนขั้นต้นคือผู้ที่ขาดรายได้และความยากจนทุติยภูมิคือผู้ที่มีรายได้เพียงพอ

จะเห็นว่าสำหรับการวัดความยากจนในเชิงปริมาณนั้น จะเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ เมื่อพูดถึง “ความยากจน” (Poverty) ก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะสร้าง “เส้นความยากจน” (Poverty Line)  เพื่อบอกว่าใครคือ “คนจน” ในประเทศนั้น ทำให้ไม่สามารถพูดถึงความยากจนระดับสากลได้ เพราะมีหลายมาตรฐาน ทางธนาคารโลกก็เลยพัฒนา “เส้นความยากจน” (International Poverty Line)  ขึ้นมาจากค่าเฉลี่ยเส้นความยากจนประจำชาติของกลุ่มประเทศที่จนที่สุดในแถบแอฟริกา ธนาคารโลกได้ปรับค่าครองชีพให้เท่ากันหมด

ก่อนจะไปต่อเรามาทำความรู้จักกับเส้นความยากจนก่อน สำหรับ “เส้นความยากจน” (Poverty Line) เป็นตัวชี้วัด “ความยากจนที่แน่นอน” กล่าวคือเส้นความยากจนจะถูกนำไปใช้วัดภาวะความยากจน โดยใช้เกณฑ์แบบสัมบูรณ์ (Absolute Poverty) ซึ่งเป็นการกำหนดระดับความยากจนที่ชัดเจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการใช้จ่ายกับอาหารและสินค้าบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตออกมาเป็นตัวเงิน  ซึ่งกำหนดปริมาณเงินหรือรายได้ขั้นต่ำที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ใครที่มีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนถือว่าเป็นคนยากจน

อย่างไรก็ตามได้มีข้อโต้แย้งสำหรับการใช้เส้นความยากจน เนื่องจากมองว่าความยากจนมักจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าจะมีเส้นที่ชัดเจน  และรายได้ที่น้อยกว่าเส้นความยากจนก็ส่งผลกระทบต่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกปัญหาของ “เส้นความยากจน” (International Poverty Line) ที่ต่อเนื่องจากการที่ธนาคารโลกได้กำหนดเส้นความยากจน โดยในปี ค.ศ.2017 ประเทศไทย มีอัตราความยากจนอยู่ที่ 0.03% ของประชากร มาตรฐานเส้นความยากจนนี้ทำให้ คนจนในประเทศไทยมีเงินใช้ประมาณ 26 บาทต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 780 บาทต่อเดือน การที่เอา เส้นความยากจน (International Poverty Line) มาบอกว่า คนไทยที่จนคือคนมีรายได้น้อยกว่า 26 บาทต่อวันหรือประมาณ 780 บาทต่อเดือน อาจดูไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในช่วงนั้น ปัญหาคือคนในแต่ละประเทศมีมาตรฐานการครองชีพระดับต่างกันมาก เช่น คนจนในบางประเทศมีมาตรฐานการครองชีพดีกว่าชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศไทย เป็นต้น แต่ธนาคารโลกก็ได้ปรับค่าครองชีพให้เท่ากันหมด เพื่อหาค่าเฉลี่ยความยากจน

ปลายทศวรรษที่ ค.ศ.1980 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เริ่มเผยแพร่อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.2002 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พัฒนาเส้นความยากจน (Poverty line) เพื่อใช้ในการประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย ปัจจุบันยังมีการใช้เส้นความยากจนในรูปแบบดังกล่าวอยู่ โดยเส้นความยากจน (Poverty line) ที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พัฒนา มีวิธีการคิดจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกบุคคลในระดับครัวเรือนประกอบด้วยค่าใช้จ่ายด้านอาหาร (Food) และสินค้าบริการจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) ที่ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยใช้แบบแผนการบริโภคของคนไทยในแต่ละปีเป็นฐานในการคำนวณ แนวคิดของการคำนวณคือ ครัวเรือนต่างขนาดต่างพื้นที่จะมีแบบแผนการบริโภคและมาตรฐานการครองชีพที่แตกต่างกัน แต่ได้รับ “อรรถประโยชน์” (Utility) เท่ากัน ทำให้เส้นความยากจนมีความจำเพาะ (Specificity) ตามลักษณะของครัวเรือน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ (Comparability) จากอรรถประโยชน์ที่เท่ากัน และมีการนำ Economy of scale หรือเรียกว่า “การประหยัดจากขนาด” มาใช้ประกอบการคำนวณ โดยให้เหตุผลว่า เส้นความยากจนจะสะท้อน “มาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำ” (Minimum standard of living) ของสังคม ซึ่งเส้นความยากจนมีหน่วยเป็น บาทต่อคนต่อเดือน โดยบุคคลใดที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนจน

          ในการคิดคำนวณเส้นความยากจน (Poverty line) ของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกอบด้วยเส้นความยากจนด้านอาหาร (food poverty line) และเส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหาร (non-food poverty line) รวมกัน โดยเส้นความยากจนด้านอาหารกำหนดขึ้นจากความต้องการสารอาหารแคลอรีและโปรตีนของคนที่แตกต่างกันตามเพศและอายุ รวมทั้งแบบแผนการบริโภค และค่าครองชีพที่แตกต่างกันตามภูมิภาคและพื้นที่ ทั้งนี้กำหนดรูปแบบการบริโภคเป็นตะกร้าสินค้าอุปโภคบริโภค (consumption baskets) ที่แตกต่างกันตามพื้นที่ จำนวน 9 ตะกร้า ประกอบด้วย 1 ตะกร้าสินค้าของกรุงเทพมหานคร และ 8 ตะกร้าสินค้าแยกเขตเมืองและเขตชนบทของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อสะท้อนรูปแบบการบริโภคของคนที่อาศัยอยูต่างภูมิภาคและสังคม รวมทั้งใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคในพื้นที่สะท้อนราคาสินค้าหรือค่าครองชีพ ส่วนเส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหาร ใช้รายจ่ายที่ไม่ใช่อาหารของคนที่มีรายจ่ายอาหาร (Poverty Line food ratio) ในช่วง 90-110 ของเส้นความยากจนด้านอาหาร มาเป็นเกณฑ์ในการคํานวณเส้นความยากจนในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร และมีการประหยัดจากขนาด (economy of scale) กล่าวคือ เมื่อมีคนจำนวนมากบริโภค/ใช้สินค้ารวมกันจะช่วยให้ประหยัดขึ้น โดยปรับทั้งในหมวดสินค้าอาหารและสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร

แผนภูมิเส้นความยากจน สัดส่วนคนจน จำนวนคนจน ของประเทศไทยในช่วงเวลาประมาณ 24 ปี (พ.ศ. 2531 – 2563)

 ในปี ค.ศ.2017 ที่ธนาคารโลกมี “เส้นความยากจน” (International Poverty Line) อยู่ที่ 26 บาทต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 780 ต่อเดือน ประเทศไทยก็ได้ใช้ “เส้นความยากจน” (Poverty Line) ที่มีการพัฒนาโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคนจนโดยรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 2,686 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 90 บาทต่อวัน ล่าสุดที่มีรายงานความยากจน ในปี ค.ศ.2020 เส้นความยากจนโดยรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 2,762 บาทต่อเดือน

เส้นความยากจน (poverty line) หรือจะเรียกว่า ค่าจางขั้นตํ่า ความต้องการอาหารขั้นตํ่า และความจําเป็นขั้นพื้นฐาน ได้สะท้อนโครงสร้างการบริโภคของประชาชน ทางเครือข่าย We fair ได้มีข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ โดยใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์สำหรับการจัดสวัสดิการ ได้แก่ 1.เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน อายุ 0-18 ปี โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 2.เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน อายุ 19-22 ปี เพื่ออุดหนุนการศึกษา โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 3.เงินบำนาญถ้วนหน้า โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 4.เงินสวัสดิการเบี้ยคนพิการ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน


ที่มา

Alan Gillie, The Origin of the Poverty Line, https://www.jstor.org/stable/2597970?origin=crossref

Gordon M. Fisher, The Development and History of the U.S. Poverty Thresholds,https://aspe.hhs.gov/topics/poverty-economic-mobility/poverty-guidelines/further-resources-poverty-measurement-poverty-lines-their-history/history-poverty-thresholds

Investopedia, International Poverty Line,https://www.investopedia.com/terms/i/international-poverty-line.asp

Seebohm Rowntree, Poverty A Study Of Town Life, https://archive.org/details/in.ernet.dli.2015.189502/page/n5/mode/2up

World Bank. การลดความยากจนและปรับปรุงความเท่าเทียมในประเทศไทย: ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ.https://blogs.worldbank.org/th/eastasiapacific/karldkhwamyakcnaelaprabprungkhwamethaethiiyminpraethsithy

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานโครงการศึกษาประเด็นเชิงนโยบายด้านความยากจนและการกระจายรายได้. https://tdri.or.th/2015/04/poverty-income-distribution-final-report/

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *